วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ซินไทยวนในศรีสัชนาลัย หมู่บ้านป่างิ้ว วังค่า ภูนก ท่าโพธิ์ และบ้านตึก


 ซิ่นตีนจกบ้านภูนก บ้านตึก 

 ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

 ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

  ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

  ซิ่นตีนจกของอำเภอลอง จังหวัดแพร่

 ซิ่นตีนจกของบ้านชัยจุมพลเมืิองลับแล อุตรดิตถ์

ซิ่นตีนจกของบ้านชัยจุมพล เมืิองลับแล อุตรดิตถ์

ข้อสันนิฐานชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย
           รูปแบบผ้าทอของชาวบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์ และบ้านภูนก บ้านตึก เอกลักษณ์เดิมเป็นแบบไทยวน เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ ชาวไทยวน ไทโยนก หรือ ชาวล้านนา จากสันนิฐานว่าหมู่บ้านป่างิ้ว มีอาณาเขตใกล้เคียงกับบ้านตึกที่มีอาณาเขตติดต่อกับลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดแพร่ และลวดลายของผ้าตีนจกบ้านป่างงิ้วก็ได้มีความคล้ายครึงกับผ้าตีนจกเมืองลับแลเป็นอย่างมาก แต่ในเมืองลับแลนั้น จกจะเป็นสีแบบเอกรงค์ คือมีสีเด่นเพียงสีเดียวเช่น สีทอง สีเขียว ที่นิยมกันสมัยก่อนที่จะมีการเพิ่มสีสั่นขึ้นมาเป็นพหุรงค์ แต่ในบ้านป่างงิ้วเองก็มีทั้งแบบเอกรงค์ และพหุรงค์ จึงได้ทำการเปรียบเทียบว่า ชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว แม่ราก ท่าด่าน วังค่า ท่าโพธิ์ มีความเป็นมาอย่างไรจากการทอผ้า แต่นั้นก็ยังเป็นแค่สันนิฐานจากข้าพเจ้า ในการสืบรากเหง้าบรรพบุรุษนั้น ชาวบ้านป่างิ้วใช้ภาษาแบบไทกะได หรือใช้ภาษาแบบล้านนา แต่ด้วยรูปแบบทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนบ้านป่างงิ้วมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านหาดเสี้ยวและหาดสูง ซึ่งเป็นชาวไทยพวนที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและประเพณี จึงโดนกลืนวัฒนธรรม การทอผ้าแบบไทยวนตามวิถีเดิมได้ค่อยๆสูญหายไปบ้างเป็นบางส่วน ชาวบ้านนิยมทอผ้าด้วยลายแบบชาวไทยพวนมากขึ้นเพราะมีความนิยม และราคาสูง และความกว้างของตีนน้อยกว่า ลายผ้าทอของชาวบ้านป่างิ้วจึงเรือยหายไปบ้าง 
            จากการเทียบเคียงลายผ้า ข้าพเจ้าได้พยายามเทียบกับลายตีนจกของจังหวัดแพร่ และ อุตรดิตถ์ ปรากฎว่าลวดลายของชาวบ้านป่างิ้ว มีความคล้ายครึงกับลายผ้าของชาวบ้านตึกและเมืองลับแลของอุตรดิตถ์เป็นอย่างมาก จึงคิดว่าชาวบ้านป่างิ้วน่าจะเป็นกลุ่มชาวไทยวนที่อพยพมาจากลับแล บ้านตึกมาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในอดีตชาวเมืองศรีสัชนาลัยมีการก่อตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอด้ง ที่บ้านตึก เมืองด้งในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2441 ก่อนที่จะมีการย้ายมายังบ้านหาดเสี้ยวในปัจจุบันใน ปี พ.ศ. 2458 และในประวัติว่าชาวไทพวนได้อพยพมายังบ้านหาดเสี้ยวจากเชียงขวางประเทศลาวเป็นเวลาประมาน 170 ปี แล้ว แต่ในบันทึกเกี่ยวกับชาวบ้านป่างิ้วหรือหมู่บ้านใกล้เคียงไม่มีอยู่เลย ดังนั้นอาจจะสันนิฐานได้ว่า ชาวไทยวนบ้านป่างิ้วได้อพยพมาอยู่หลังจากชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวเกือบ 100 ปี อาจจะมาพร้อมกับการย้ายที่ว่าการอำเภอจากเมืองด้ง เมื่อที่ทำการราชการย้ายก็อาจจะมีต้องมีการนำคนจากถิ่นฐานเดิมย้ายตามมาด้วย และอาจจะเป็นคนจากบ้านเมืองด้งที่ย้ายมามายังหาดเสี้ยวโดยให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ถัดจากบ้านหาดเสี้ยว 3 กิโลเมตร เป็นบางส่วน หรือ ข้อสันนิฐานอีกด้านหนึงอาจจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนหน้าชาวไทยพวนแล้วก็เป็นได้ เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีวัดเป็นจำนวนสองวัด ที่มีอายุหลายร้อยปี และมีพระพุทธรูปสองพี่น้องสมัยสุโขทัย ณ วัดป่างิ้วในปัจจุบัน ซึ่งอีกวัดหนึ่งได้ร้างไปนานแล้ว ตามคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นที่ว่าหมู่บ้านป่างิ้วมีอายุร่วม 300 ปี และเส้นทางการเดินทางระหว่างป่างิ้ว บ้านทุ่งพล้อ และ บ้านตึก มีอาณาเขตติดต่อกัน โดนในประวัติได้เล่าถึงการอพยพมายังเมืองด้งว่ามีชายคนนึงย้ายถิ่นฐานมายังบ้านตึก ตึกแปลว่า สุด เพราะสุดทางเขาแล้ว และบ้านตึก ทุ่งพล้อ ไล่มาถึงป่างิ้ว มีดอยเขามุ้ง ซึ้งทั้งสามหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่อยู่เชิงดอยเขามุ้งทั้งสิ้น จึงมีความเป็นไปได้อีกประการว่า ชาวบ้านตึก ทุ่งพล้อ ป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์ คือกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันที่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาพร้อมกันโดยแยกกระจายออกเป็นส่วนๆเพื่อหาที่ทำมาหากิน โดยที่บ้านป่างิ้วเป็นที่ราบลุ่มน้ำยมจึงทำการปลูกข้าวได้ดีและมีนาเป็นจำนวนมาก โดยในตำนานยังมีการกล่าวถึงเจ้าพ่อหมื่นด้ง  โอรสเจ้าหมื่นโลกสามล้าน เจ้านครลำปาง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 1993 มีนามว่าเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อเจริญชันษาแล้วได้เป็นแม่ทัพของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหมื่นด้ง เจ้าเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 1986 และได้รักษาการเจ้าเมืองเชียงชื่น ระหว่าง ปี พ.ศ. 2003 - 2012 อีกด้วย ในห้วงเวลานี้ คงจะได้มาตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชนาลัย หรือ เชียงชื่น ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณวัดต้นสนโพธาราม คำว่าเมืองด้ง ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ. ๒๔๒๘ ใบบอกเมืองสวรรคโลก จ.ศ. ๑๒๔๗ แสดงว่าเมืองด้งคง จะได้รับการยกฐานะชุมชนบริเวณบ้านตึกขึ้นเป็นเมือง ตำแหน่งเจ้าเมืองมียศเป็นที่พระเมืองด้ง ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองสวรรคโลก ดังนั้น ความคลุ่มเครือทางประวัติศาสตร์ของชาวป่างิ้วจึงยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัด จากคำบอกเล่าและการเทียบเคียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเราดูจากลวดลายของผ้าทอแล้วนั้น อาจจะสันนิฐานได้ว่าชาวบ้านป่างิ้วน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้านตึก และ เมืองลับแล เพราะลวดลายของผ้า ที่เหมือนกัน         
            ดังนั้นข้อสันนิฐานข้าพเจ้าคิดว่ามีมูลมากที่สุดน่าจะเป็นอันนี้ครับคือ หมู่บ้านป่างิ้วเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีชาวไทยวนเข้ามาอาศัยเป็นเวลานานกว่า 500 - 300 ปีแล้ว โดยเป็นคนกลุ่มเดียวกับกับชาวบ้านตึก และ ลับแลของอุตรดิตถ์ โดยตั้งหมู่บ้านบริเวณเชิงดอยเขามุ้ง โดยมีแม่น้ำยมไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ไล่ลัดเลาะไปเรื่อยตามคลองแม่รากถึงบ้านตึกในสุดติดภูเขา โดยมีลวดลายผ้าตีนจกลายเดียวกันเป็นตัวเชือมโยงความสัมพันธ์ โดยกระจายหมู่บ้านไทยวนไปคือ บ้านแม่ราก ท่าด่าน ป่างิ้ว แม่สำ วังค่า ท่าโพธื์ โดยมีชาวไทพวนเพิ่งอพยพมาอยู่ได้ประมาน 180 ปี โดยมีหมู่บ้านอยู่ติดกันคือ บ้านหาดเสี้ยวและหาดสูง ประกอบกับเคยเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยมีเจ้าหมื่นด้งนคร หรือเจ้าพ่อเมืองด้ง มาดูแลยังหมู่บ้านบ้านตึกเป็นจุดตั้ง เมื่อ 500 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สุโขทัยอ่อนแอ จึงอาจจะเป็นการที่เจ้าหมืนด้งนำคนในอาณาเขตการดูแลของโยนกล้านนาในสมัยนั้นมาติดตามมาด้วย และมีบางส่วนที่ตามมาหลังจากนั้น โดยที่เจ้าหมื่นด้ง แม่ทัพเอกของพระเจ้าติโลกราช มหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา มีฐานนันดรเป็นอาของพระเจ้าติโลกราช สร้างเมืองนี้เพื่อเป็นหน้าด่านไว้ยันทัพกรุงศรีอยุธยาไม่ให้ไปถึงอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น  โดยมีความเชื่อมโยงกับลิลิตยวนพ่าย เจ้าด้งนครเดิมเป็นเจ้าครองเมืองลำปาง แต่ต้องลงมาดูแลราชการและเข้ามาช่วยทัพล้านนากับอยุธยาที่สุโขทัย ในช่วงสมัยเจ้าพระบรมไตรโลกนาถ และเจ้าหมื่นด้งยังได้มีการจัดทัพไปตีกับเจ้าเมืองฝางที่อุตรดิตถ์โดยทัพของเจ้าหมื่นด้งชนะเจ้าพระฝาง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำคนโยนกจากลับแลเพราะเป็นทางผ่านระหว่างสุโขทัยกับอุตรดิตถ์ติดตามมายังบ้านตึกและกระจายตัวกันออกเป็นหมู่บ้านต่างๆดังในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคที่ศรีสัชนาลัยมีที่ว่าการอำเภอ สมัยแรกนั้นที่ว่าการอำเภออยู่ที่เมืองด้ง บ้านตึกปัจจุบัน ซิ้งมีระยะทางไกลจากลุ่มน้ำยมถึง 12 กิโลเมตร นายอำเภอคนที่ 3 ของอำเภอเมืองด้ง ชื่อขุนศรีทิพบาลมา จึงทำการย้ายที่ว่าการมายัง ต.ป่างิ้ว อ.ศรีสัชฯเพราะพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านป่างิ้วมีแม่น้ำยมไหลผ่านเหมาะแก่การตั้งที่ว่าการอำเภอเพราะสะดวกในการคมนาคม โดยยังชื่ออำเภอด้งเหมือนเดิม ตั้งอยู่ได้ประมาณ 5 ปี เมื่อขุนศรีพิบาลเกษียณอายุราชการ และนายอำเภอคนใหม่ยังไม่เข้ามารับตำแหน่งนั้น ผู้ร้ายได้เข้าปล้นที่ว่าการอำเภอด้ง และเผาที่ว่าการอำเภอด้งที่ตำบลป่างิ้ว ด้วยต่อมานายอำเภอคนที่4 คือพระยาพิศาลภูเบท มารับตำแหน่งใหม่ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ มาตั้งที่บ้านหาดเสี้ยวประมาณปีพ.ศ.2458และยังใช้ชื่อ อำเภอด้งจึงมีขอสันนิฐานได้ว่า ป่างิ้วน่าจะเป็นเมืองโบราณแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชโดยเป็นชาวโยนกกลุ่มเดียวกับชาวบ้านตึกก็เป็นได้
            ลักษณะหมู่บ้านของชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจคือวัดป่างิ้ว สุทธาราม รูปแบบของชาวบ้านที่นี้ทำการเกษตรและทอผ้า การทำนาของบ้านป่างิ้วเป็นนาปีและนาปลัง ชาวบ้านที่นี้มีความพอเพียง มีวัฒนธรรมทางภาษาแบบไทยวน แต่วัฒนธรรมบางส่วนถูกกลืนไปกับชาวไทพวน เช่นการทอผ้า การแต่งกาย แต่วัฒนธรรมการไปวัดยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ชาวบ้านที่นี้นิยมตักบาตรหน้าบ้านโดยมีการตีเกราะเคาะไม้ที่แต่ละซอยทำไว้เพื่อให้สัญญานว่าพระได้เดินมาถึงแล้ว ชาวบ้านบางส่วนเมื่อตักบาตรเสร็จจะเดินตามพระมายังวัดเพื่อรับศีลรับพร ก่อนที่จะมีชาวบ้านบางส่วนตามมาสมทบเพื่อทำการตักบาตรและถวายอาหารเพิ่มเติม วัฒนธรรมส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับการตักบาตรของชาวลับแลในบางวัดอยู่บ้าง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ข้าพเจ้าสันนิฐานไว้ 

ข้อมูลชาวไทยวนทั่วไป
ชาวไทยวน หรือคนเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต-กะได ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา หลังจากได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองเชียงแสน อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยวน และในบางกลุ่มได้อพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ภูมิภาคภาคอื่นๆของประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครอง และภาวะสงคราม เช่น จังหวัดสระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา และสุโขทัย เป็นต้น
ชาวไทยวนมีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่มีความพิเศษ จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย และจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ทราบได้ว่าชาวไทยวน มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างไปจากกลุ่มไทอื่นๆ โดยแสดงให้เห็นชัดในเครื่องแต่งกายของสตรีที่เรียกว่า ผ้าซิ่น ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายหลักของสตรีในแถบภูมิภาคนี้ ผ้าซิ่นในชีวิตประจำวันของสตรีไทยวนส่วนใหญ่เป็นซิ่นที่ประกอบจากผ้าริ้วลายขวา ต่อตีนด้วยผ้าสีแดงหรือดำ และต่อหัวซิ่นด้วยผ้าสีขาว สีแดงหรือดำ และอาจจะเป็นผ้าสีเดียวก็ได้ โดยการเย็บเข้าด้วยกัน เรียกซิ่นชนิดนี้ว่า ซิ่นต๋า หรือ ซิ่นต่อตีนต่อเอว
ลักษณะผ้าซิ่นของสตรีชาวไทยวนส่วนใหญ่จะนิยมนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้าในขณะที่บางกลุ่มอาจจะนุ่งลงมาเพียงแข้งตามสภาวะภูมิประเทศของที่อยู่อาศัย ในอดีตสตรีชาวไทยวนไม่นิยมสวมเสื้อเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่มักจะมีผ้าที่เป็นอเนกประสงค์ โดยใช้คล้องคอ ใช้พันมัดหน้าอก(มัดนม) พาดบ่า หรือโพกศรีษะก็ได้ โดยที่สตรีชาวไทยวนทุกชนชั้นจะนิยมไว้ผมยาวเกล้าผมมุ่นมวยปักปิ่น ใส่ลานหู นิยมสวมเครื่องประดับที่เป็นสร้อยตัว กำไล แหวน เข็มขัด และเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งการเปลือยอกถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นในการเข้าสู่พิธีการซึ่งจะใช้ผ้าห่มแบบเฉียงที่เรียกว่า ผ้าสะหว้าย  จากผ้าเนื้อดีมีราคา สำหรับในโอกาสพิเศษหรือไปวัด
สตรีชาวไทยวน นิยมนุ่งผ้าซิ่นที่มีการต่อตีนด้วยผ้าทอพิเศษที่เรียกว่า ตีนจก คือซิ่นต่อเชิง ให้ดูงดงามกว่าธรรมดานอกจากนี้ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าซิ่นยังต่างกันออกไป อันจะเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการบ่งบอกถึงรสนิยมร่วมของกลุ่ม แบ่งขอบเขตทางชาติพันธุ์ แหล่งที่มาและความเชื่อที่แฝงมาในลวดลายตีนผ้าซิ่นนั้นอัตลักษณ์ของ ซิ่นตีนจก นั้นประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ “หัวซิ่น ส่วนนี้มักเป็นผ้าฝ้ายสีขาวต่อกับผ้าสีแดง หรืออาจจะต่อเฉพาะผ้าสีแดงเพียงอย่างเดียวก็ได้ ส่วนที่สองคือ ตัวซิ่น” นิยมใช้ผ้าริ้วลายขวางกับลำตัว เรียกว่า ลายต๋า  มีทั้งทอด้วยสีเดียวเสมอกันเรียกกันว่า ซิ่นต๋าเหล้ม และทอสลับสีต่างๆเรียกว่า ซิ่นต๋าหมู่ ส่วนสุดท้ายเรียกว่า ตีนซิ่น” เป็นส่วนสำคัญของซิ่นตีนจกเพราะจะใช้ผ้าที่ทอด้วยวิธีการจกเป็นลวดลายพิเศษที่มีความงดงามพิเศษเพื่อมาต่อเป็นเชิงของผ้าซิ่น เป็นที่มาของชื่อเรียกผ้าซิ่นชนิดนี้นั่นเอง การทำตีนจกสำหรับต่อเชิงผ้าซิ่นสตรีนั้น นับเป็นงานประณีตศิลป์ที่แสดงถึงความละเอียดอ่อน ประณีต และความมีรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของหรือช่างฝีมือผู้ถักทอ และหากจะกล่าวถึงซิ่นตีนจกในเชิงคุณค่าความสำคัญทางด้านความเชื่อ และวัฒนธรรมแล้ว ลวดลายที่ปรากฏอยู่ในตีนจกนั้นเป็นภูมิปัญญาของช่างฝีมือผู้ถักทอ ซึ่งได้รับการเพาะบ่มเป็นอย่างดีจากรุ่นสู่รุ่นโดยเฉพาะสตรี จากการถ่ายทอดของผู้ที่เป็นแม่ ในวัยแรกรุ่นของสตรีชาวไทยวนล้านนานั้นมักจะถูกเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะแต่เดิมจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แม่และยายจะอบรมสั่งสอนให้ลูกสาวได้เรียนรู้จักมารยาททางสังคม ตลอดจนการใช้ชีวิต การเรียนรู้ทุกอย่างจึงตกทอดมาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางครอบครัวที่ได้สืบทอดจากแม่และยายได้แก่  การทำอาหาร การทอผ้า และการดูแลจารีตประเพณีทางสังคม ซึ่งการอบรมสั่งสอนนี้จะบ่มเพาะประสบการณ์ชีวิตให้หญิงสามารถออกเรือนแต่งงาน มีคู่ครองต่อไปได้ หนึ่งในภูมิปัญญาสั่งสมที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้น คือลวดลายที่ปรากฏอยู่ในผืนผ้าตีนจก ไม่ว่าจะเป็นลวดลายโคม ลายขัน หรือลายขอ  ลายนกไล่ ลายกุดลาว เป็นต้น ที่มีการสร้างลวดลายที่มีลักษณะพิเศษ มีความเป็นจำเพราะของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวภายในกรอบจารีตเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างลวดลายให้แตกต่างไปในแต่ละหมู่บ้าน เช่น การเพิ่มลวดลายพิเศษลงในชุดลายโคม ลายขัน ลายโง๊ะ หรือช่วงหางสะเปา ซึ่งรายละเอียดของความแตกต่างด้านลวดลายเหล่านี้เป็นสิ่งควรจะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดซิ่นตีนจกของชาวไทยวนในแต่ละท้องที่จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ซิ่นตีนจกในเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นตีนจกที่มีลักษณะที่เป็นมาตรฐานและมีความสวยงาม นิยมทอด้วยไหมและดิ้นเงินดิ้นทอง ส่วนซิ่นตีนจกแบบชานเมืองลำปาง เขตแม่ทะ ไหล่หิน เสริมงาม มักมีสีสันฉูดฉาดและมีความหลากหลายของลวดลาย ซิ่นตีนจกเขตฮอด-ดอยเต่า หรือซิ่นน้ำถ้วมมีสีสันฉูดฉาด ลวดลายจะมีขนาดใหญ่และหางสะเปาเป็นสีดำล้วน ซิ่นตีนจกหล่ายน่าน เข้าใจว่าเป็นลักษณะของซิ่นตีนจกแบบดั้งเดิมอย่างหนึ่งของชาวไทยวน คือ นิยมจกบนท้องสีแดง บางผืนไม่มีหางสะเปา ตัวซิ่นมีความพิเศษคือ มี2-3ตะเข็บ ลวดลายงดงามเกิดขึ้นจากการใช้เทคนิคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจก ขิด ล้วงและมัดหมี่ นอกจากนี้ชาวไทยวนที่โยกย้ายไปแหล่งอื่นก็มีผ้าซิ่นตีนจกที่มีความงดงามด้วย เช่น ตีนจกแบบคูบัว ดอนแร่ และหนองโพ-บางกะโด ในเขตจังหวัดราชบุรี เป็นต้น
ปัจจุบัน มีการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอซิ่นตีนจกลายโบราณในหลากหลายพื้นที่ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านและผู้สูงอายุซึ่งไม่มีงานทำ ชาวบ้านไม่ต้องออกไปหางานทำนอกหมู่บ้านก็สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น