วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การแต่งกายแบบล้านนา


 เจ้าดารารัศมี กับซิ่นลุนตยาแบบราชสำนักพม่า ต่อตีนซิ่นด้วยซิ่นแบบล้านนา

การแต่งกายตามแบบประเพณีล้านนาที่ถูกต้อง

การแต่งกายเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของคนแต่ละพื้นถิ่น สำหรับในเขตภาคเหนือหรือดินแดนล้านนาในอดีต ปัจจุบันการแต่งกายแบบพื้นเมืองได้รับความสนใจมากขึ้น แต่เนื่องจากในท้องถิ่นนี้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ และอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ ทำให้การแต่งกายแบบพื้นเมืองมีความสับสนเกิดขึ้น ดังนั้นคณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ จึงได้ระบุข้อไม่ควรกระทำในการแต่งกายชุดพื้นเมือง ของ “แม่ญิงล้านนา” เอาไว้ว่า
          1.ไม่ควรใช้ผ้าโพกศีรษะ ในกรณีที่ไม่ใช่ชุดแบบไทลื้อ
          2. ไม่ควรเสียบดอกไม้ไหวจนเต็มศีรษะ
          3. ไม่ควรใช้ผ้าพาดบ่าลากหางยาว หรือคาดเข็มขัดทับ และผ้าพาดที่ประยุกต์มาจาก ผ้าตีนซิ่นและผ้า “ตุง” ไม่ควรนำมาพาด
          4. ตัวซิ่นลายทางตั้งเป็นซิ่นแบบลาว ไม่ควรนำมาต่อกับตีนจกไทยวน
          ดังนั้น จึงอาจสรุปลักษณะการแต่งกายของแม่ญิงล้านนาอย่างคร่าวๆได้ ดังนี้


เจ้าดารารัศมีทรงในชุดของชาวกะเหรียงเมื่อครั้งเสด็จไปหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง

การเกล้าผมและเครื่องประดับศีรษะ
          1. การเกล้าผม  การเกล้ามวยผมของหญิงชาวล้านนามีหลายแบบ เช่น เจ้านายไทเขินจะเกล้ามวยไว้กลางหัว ไทใหญ่มวยอยู่ กลางหัวแต่จะเอียงมาทางซ้าย เพื่อให้ปลายผมทิ้งชายยาวห้อยลงมา ส่วนการเกล้าผมอย่างคนไทยวน มีชื่อเรียกขานต่างๆ กัน ดังนี้
          ‘เกล้าวิดว้อง’ เป็นการเกล้าผมทรงสูงแล้วดึงปอยผมขึ้นมาเป็นว้องหรือเป็นห่วงอยู่กลางมวย
          ‘เกล้าผมบ่มจ๊อง หรือ ผมอั่วจ๊อง’ คือ การเอาผมปลอมปอยหนึ่ง (จ๊อง-ช้อง) ใส่เข้าไปในมวยผมเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
          ‘เกล้าผมแบบอี่ปุ่น หรือ เกล้าแบบสตรีญี่ปุ่น’ เป็นทรงผมที่นิยมมากในสมัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

2. เครื่องประดับศีรษะและการตกแต่งมวยผม  ‘ปิ่นปักผม’ ชาวยองเรียกปิ่นว่า หมาดโห ส่วนลาวล้านช้างเรียกว่า หมั้นเกล้า การใช้ปิ่นปักผมมีประโยชน์ทั้งใช้เพื่อขัดผมให้อยู่ทรง หรือใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามให้มวยผม วัสดุที่นำมาทำปิ่นก็มีแตกต่างกันไป เช่น ปิ่นเงิน ปิ่นทองคำ ปิ่นทองเหลือง ปิ่นที่ทำจากเขา-กระดูกสัตว์
           ลักษณะของปิ่นปักผม มีหลายรูปแบบต่างกันออกไป เช่น ปิ่นทองเหลืองลักษณะโบราณที่แม่แจ่ม ทำเป็นช่อชั้นคล้ายเจดีย์ ซึ่งปิ่นโบราณที่พบในล้านนาก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ส่วนยอดปิ่นอาจประดับด้วยอัญมณีอย่างทับทิมหรือหินสีก็ได้ นอกจากนี้ยัง มีปิ่นที่ทำเป็นรูปร่ม ได้แก่ ปิ่นจ้องของชาวไทลื้อ หรือไทเขินในเชียงตุง 
          ‘ดอกไม้ไหว’ เมื่อยามจะไปวัดทำบุญหญิงชาวล้านนามักจะเหน็บดอก ไม้ไว้ที่มวยผม ดังมีคำกล่าวว่า ‘เหน็บดอกไม้เพื่อบูชาหัว และเพื่อก้มหัวบูชาพระเจ้า’ โดยดอกไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาประดับเวลาไปวัดนั้น มักเป็นดอกไม้หอมสีสุภาพ เช่น ดอกเก็ดถะหวา (ดอกพุดซ้อน) ดอกจำปา-จำปี เป็นต้น ส่วนดอกไม้ที่นำมาประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามนั้น มักนิยมใช้ดอกเอื้องผึ้ง ซึ่งต่อมาได้มีการ ประดิษฐ์ดอกเอื้องด้วยทองคำ เงิน ทองเหลือง เรียกว่า เอื้องเงินเอื้องคำ นอกจากนั้นก็ยังมีดอกเอื้องที่ทำจากกระดาษอีกด้วย

          ‘หวีสับ’ หวีสับที่นำมาประดับผมมีทั้งหวีงา หวีทอง หวีเงิน หวีเขาสัตว์ หรือปัจจุบันมักเห็นเป็นหวีพลาสติก ซึ่งพบได้มากในหญิง ชาวไทลื้อสิบสองพันนา ที่มักจะใช้หวีสับสีสันสดใสเป็นเครื่องประดับมวยผม ส่วนหวีที่ทำจากทองคำ เงิน หรือ หวีที่ทำจากงาช้าง มักจะเป็นหวีของชาวไทใหญ่
          ‘โพกหัว เคียนผ้า’ มักพบการโพกหัวในชีวิตประจำวันของ คนเฒ่าคนแก่ชาวยองในลำพูน หรือชาวไทลื้อในสิบสองพันนา ที่ต่างก็โพกผ้าขาวเป็นปกติเวลาไปวัดเพื่อความเรียบร้อย อีกทั้งยังช่วยกันแดดและกันฝุ่นผงที่จะมาเกาะผมที่ชโลมน้ำมันมะพร้าวไว้
           นอกจากนั้นการโพกผ้ายังสามารถเป็นตัวบ่งชี้สถานภาพของผู้หญิงอีกด้วย เช่น หญิงไทลื้อในเมืองอู ถ้ายังไม่ออกเรือนจะ โพกหัวด้วยผ้าสีชมพู แต่ถ้าออกเรือนแล้ว จะโพกผ้าสีอะไรก็ได้

ราชสำนักสยามหลักได้รับอิทธิพลการไว้ผมยาวแบบสตรีล้านนาของเจ้าดารารัศมี


เครื่องประดับร่างกาย
          1. ตุ้มหู    การเจาะหูนั้นภาษาล้านนา เรียกว่า บ่องหู ชาวไทใหญ่ เรียกว่า ปี่หู ส่วนตุ้มหูของชาวไทยวนมีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น
          ‘ด็อกหู’ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นคำๆ เดียวกับ ‘ดอกหู’ ซึ่งอาจหมายถึงการเอาดอกไม้มาเสียบไว้ที่ติ่งหูก็เป็นได้ จะมีลักษณะ เป็นตุ่มกลมๆ
          ‘ลานหู’ มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เพื่อให้รูที่เจาะไว้ขยายกว้างออก เรียกว่า ‘ควากหู’
          นอกจากนั้นยังมีคำต่างๆ ที่ใช้เรียกตุ้มหูอีกหลายคำ เช่น ท่อต๊าง ท่อต๊างลานหู หน้าต้าง หละกั๊ด เป็นต้น
 
          2. สร้อย    ‘สร้อยคอ’ หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า ‘สายคอ’ แต่เดิมการใส่สร้อยคอของหญิงล้านนาอาจจะไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากพิจารณา ดูจากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ไม่ปรากฏว่ามีรูปผู้หญิงใส่สร้อยคอ แต่จะมีการใส่สร้อยสังวาลปรากฏอยู่แทน ดังนั้นการ ใส่สร้อยคอน่าจะเพิ่งได้รับความนิยมในสมัยหลังมานี้
          ‘จี้คอกับสร้อยอุบะ’ จี้คอเป็นเครื่องประดับที่ใช้คู่กับสร้อยคอ โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคน ส่วนสร้อยอุบะจะมีลักษณะกลมกลืนกันระหว่างส่วนที่เป็นสร้อยกับอุบะ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลาง
          ‘ล็อกเกต เข็มกลัด’ ล็อกเกตจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘จี้’ แต่จะเปิดออกได้ โดยข้างในมักนิยมใส่รูปบุคคลที่มีความสำคัญ ต่อเจ้าของ แต่บางครั้งล็อกเกตนี้ก็สามารถดัดแปลงเป็นเข็มกลัดได้ด้วย
          ‘สร้อยสังวาล’ ผู้รู้ทางด้านการแต่งกายแบบล้านนาได้กล่าวไว้ว่า สร้อยสังวาลนี้น่าจะเป็นเครื่องทรงของเจ้านายฝ่ายหญิง มากกว่าจะเป็นของหญิงสามัญชน จำนวนเส้นของสร้อยสังวาลยังบอกถึงฐานะทางสังคมอีกด้วย แต่โดยปกติจะใส่พาดทับผ้าสไบเพียง เส้นเดียว


         3. กระดุม  ภาษาพื้นเมืองเรียก ‘บ่าต่อม’ น่าจะใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเมื่อสังเกตจากภาพจิตร กรรมฝาผนังในล้านนา ก็จะเห็นแต่ผู้ชายที่ใส่เสื้อแบบฝรั่งเท่านั้นที่ติดกระดุม กระดุมมีหลายประเภทและใช้วัสดุแตกต่างกันไป เช่น ลักษณะกระดุมที่เป็นเชือกถักขอดเป็นปม น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจีน ส่วนเสื้อของไทใหญ่ไทลื้อจะเป็นกระดุมห่วงที่สามารถถอดไป ใช้กับเสื้อตัวอื่นได้ โดยกระดุมเหล่านี้มีทั้งทำมาจากทองคำ นาก เงิน อัญมณี แก้ว เป็นต้น

          4. เข็มขัด  ภาษาล้านนาเรียกว่า ‘สายฮั้งบอกแอว’ ส่วนชาวจังหวัดน่านเรียกว่า ‘แบ้ว’ สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ‘BELT’ ส่วนชาวลำปางเรียกว่า ‘ต้าย’ เป็นทั้งเครื่องใช้และของประดับ ควบคู่ไปกับผ้าซิ่นและเตี่ยวสะดอ แต่ถ้าสังเกตจากภาพ จิตรกรรมฝาผนัง ภาพของทั้งบุรุษและสตรีล้วนแต่ไม่ใช้เข็มขัด แต่จะใช้วิธีทบและขมวดปมผ้าซิ่นหรือกางเกงแทน


          5. กำไล  ภาษาล้านนาเรียกกำไลว่า ‘ขอแขน ว้องแขน ขะแป่ง’ ชาวไทลื้อเชียงคำ เรียกกำไลว่า ‘กอกไม้’ ส่วนชาวไทใหญ่ เรียกว่า ‘แหวนมือ’ โดยลักษณะของกำไลนั้นมีหลายแบบ เช่น กำไลวง คือ กำไลที่มีลักษณะเป็นวงกลมธรรมดา กำไลเกลียว มีลักษณะเป็นเกลียวเดียวหรือหลายเกลียวเรียงกัน ส่วนกำไลข้อเท้า จะเรียกว่า ‘ขอแฅ่ง หรือ ว้องแฅ่ง’

          6. แหวน  ภาษาไทลื้อเรียกว่า ‘จอบมือ’ ภาษาไทใหญ่เรียกว่า ‘มงกวย’ ทางภาคเหนือมีแหวนช่อ (จ้อ) ลักษณะเป็นช่อเป็นชั้น ความสำคัญของแหวนล้านนา น่าจะอยู่ที่หัวแหวนเป็นสำคัญ คือ แก้วหรืออัญมณีที่ใช้ประดับแหวน แก้ววิเศษที่ถือว่าเป็นของมงคล ในการนำมาทำเป็นหัวแหวน เช่น แก้ววิทูรย์ แก้วผักตบ แก้วบัวรกต แก้วมหานิลไชยโชค แก้วมหานิลซายคำ เป็นต้น


 เจ้าดารารัศมีทรงปล่อยปรอยผมที่ยาวตามแบบประเพณีสตรีล้านนา

ผ้าซิ่น
          ผ้าซิ่นที่แม่ญิงชาวล้านนานิยมนุ่ง มีแบบที่ตัดสำเร็จ และแบบที่เป็นผืน เรียก ‘ซิ่นต่วง’ หรือ ‘ซิ่นบ้วง’ ปัญหาของการนุ่งซิ่น คือ การนุ่งซิ่นกลับหัว มักจะเกิดกับซิ่นลาว ซิ่นไทลื้อ เพราะ ซิ่นลาวมักมีลวดลายซับซ้อน ส่วนซิ่นไทลื้อจะมีผ้าสีห้อมเป็นเชิง ในส่วนที่ เป็นลายจะพาดอยู่ตรงสะโพก

          ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม  เมืองแม่แจ่มได้รับการกล่าวถึงความประณีตในศิลปะแห่งการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าซิ่นที่เป็นของเก่าจะมีลวดลายแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ที่สนใจซื้อหาไปสะสม เมื่อซิ่นแม่แจ่มเริ่มมีชื่อเสียง การทอผ้าซิ่น แบบใหม่จึงได้เริ่มขึ้น แต่เนื่องจากลวดลายแบบเก่านั้นทำยาก ซิ่นแม่แจ่มในปัจจุบันจึงเป็นลวดลายแบบใหม่ ผ้าฝ้ายที่ใช้ก็มัก เป็นผ้าฝ้ายเกลียวจากโรงงาน มากกว่าที่จะใช้ผ้าฝ้ายจากธรรมชาติ


           ซิ่นก่านซิ่นต๋า  ซิ่นต๋า ซิ่นก่าน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ซิ่นต่อตีนต่อแอว (แอว-เอว) “ต๋า” คือ ลายเส้นพาดขวางกับลำตัว “ก่าน” คือ ลายพาด “ต่อตีนต่อแอว” คือ การเอาผ้าซิ่นอีกชิ้นต่อตรงหัวซิ่น และอีกชิ้นหนึ่งต่อเป็นตีนซิ่น ดังนั้น ซิ่น 1 ผืน จึงประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ในส่วนที่เป็น “ต๋า หรือ ก่าน” จะมีชื่อเรียกเฉพาะที่ต่างกันออกไป เช่น
          ซิ่นต๋าผุด คือ ซิ่นที่มีลวดลายในตัวแต่มองเห็นได้ไม่ชัดนัก
          ต๋าแลว คือ ลวดลายที่มีเส้นพาดเส้นเดียว 
          สองแลว คือ ลวดลายที่มีเส้นพาด 2 เส้น เป็นต้น
          ซิ่นก่านซิ่นต๋า หรือ ซิ่นต่อตีนต่อแอวนี้ เป็นซิ่นแบบโบราณของชาวไทยวน ที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัจจุบันมักพบเป็น “ซิ่นก่าน ทอลวด” คือ เป็นซิ่นที่ทอทั้ง 3 ส่วน ติดต่อกันเป็นผืนเดียว

          ซิ่นไหมสันกำแพง เส้นไหมของสันกำแพงเป็นไหมที่เส้นเล็ก อ่อนพลิ้ว เงางาม ซิ่นต๋าหรือซิ่นก่านไหม มีแหล่งผลิตหลักอยู่ที่ สันกำแพง แต่ในส่วนลายพาดขวางที่เรียกว่า สองแลว สามแลว นั้น ทางสันกำแพงได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมาใหม่ โดยขยาย แถบให้กว้างขึ้น แล้วไล่ระดับเล็กใหญ่เรียงกันไป และค่อนข้างมีสีสันฉูดฉาด เช่น สีบานเย็น เหลือง เขียว ม่วง เป็นต้น

          ซิ่นน้ำถ้วม เป็นซิ่นของกลุ่มไทยวนในเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง มีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณทะเลสาบดอยเต่า ในอดีตบริเวณนี้ เป็นชุมชนโบราณ มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน แต่ประวัติศาสตร์ทั้งมวล รวมทั้งศิลปะการทอผ้า ได้ล่มสลายลงไปอยู่ใต้น้ำ เมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ดังนั้นผ้าซิ่นของชาวบ้านกลุ่มนี้ จึงได้ชื่อว่า ‘ซิ่นน้ำถ้วม’ ซิ่นน้ำถ้วมนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ตัวซิ่นประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ตีนจก ตัวซิ่น และหัวซิ่น ซิ่นแบบเก่ามักทอลายห่าง ซึ่งเป็นแบบอย่างของตีนจกโบราณของทุกพื้นที่ ก่อนจะเพิ่มลายเพิ่มฝ้ายให้หนาขึ้นในภายหลัง และจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนวิถีชีวิตในการดำรงชีพของชาวบ้านกลุ่มนี้ ซิ่นน้ำถ้วมในปัจจุบัน อาจจะขาดคนสืบต่อการทอซิ่นชนิดนี้ไปแล้ว

          ซิ่นไหมยกดอกลำพูน ซิ่นไหมยกดอกลำพูนมิใช่เป็นซิ่นที่มีมาแต่เดิม ผ้าไหมยกดอกเป็นผ้าไหมที่มีราคาสูง ทอขึ้นสำหรับเจ้า นายหรือตัดเป็นชุดเจ้าสาว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงสนับสนุนให้มีการทอผ้า ไหมยกดอกขึ้น ส่วนลวดลายนั้นได้รับอิทธิพลมาจากผ้าทอทางภาคกลาง ประสานกับลายผ้าทอทางเหนือ จึงเกิดเป็นลายซิ่นยก ดอกลำพูนขึ้น

         ซิ่นพม่า มีชื่อเรียกขานมากมาย เช่น ซิ่นลุนตยา ซิ่นเช็ก ซิ่นอินเล ซิ่นซิมเหม่ ซิ่นยะไข่ ฯลฯ ซึ่งซิ่นแต่ละแบบก็มีลักษณะ แตกต่างกันไป เช่น ซิ่นลุนตยา อฉิก มีลาดลายคล้ายคลื่นพาดขวาง มีผ้าต่อตีนซิ่นเป็นหางยาวๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบแซมด้วยดิ้นเงิน ทอง หรือเป็นซิ่นแบบธรรมดา ปัจจุบันพบว่ามีผ้าพิมพ์ลายลุนตยาวางขายอยู่มากมาย ซิ่นเช็ก มีลวดลายคล้ายซิ่นลุนตยา แต่เป็นไหมทอเครื่อง เป็นต้น

ซิ่นลุนตยาราชสำนักพม่า
         ซิ่นไทลื้อ ซิ่นไทลื้อมักมีลวดลายเป็นดวงบริเวณสะโพก ซึ่งที่มาของลวดลายนี้มีกล่าวถึงในตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนาไว้ว่า “กาลครั้งหนึ่ง มีเทวบุตรลงมาเกิด ในเมืองมนุษย์เป็นหมาควายหลวง (ในตำนานคำว่า ‘ควาย’ นั้น ไม่มีสระอา) และได้ฆ่าชายชาวเมืองเชียงรุ่งจนหมด และได้ผู้หญิงในเมืองเป็นเมีย ต่อมามีมานพ หนุ่มกล้าหาญ ได้พลัดหลงเข้ามาในเมืองและได้ฆ่าหมาควายหลวงตาย ฝ่ายหญิงทั้งหลายต่างก็ร้องไห้และใช้มือตะกุยตะกายซากศพจนเปื้อนเลือด และได้เอามือ ที่เปื้อนเลือดมาเช็ดผ้าซิ่นตรงสะโพก ตั้งแต่นั้นมาซิ่นไทลื้อจึงมีลวดลายสีแดง เป็นจุดเด่นตรงสะโพก และเรียกลายซิ่นดังกล่าวว่า ‘ซิ่นตาหมาควาย(หลวง)’ ”ปัจจุบันหญิงชาวไทลื้อในสิบสองปันนาที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งกายแบบไทลื้อดั้งเดิม แต่สำหรับหญิงสาวมักจะนิยมนุ่งซิ่นที่เป็นผ้าทอจากโรงงานซึ่งมีสีสัน สดใสมากกว่าการนุ่งซิ่นแบบเดิม

ซิ่นไหมคำราชสำนักเชียงตุง


การแต่งกายของชาวไทยวน ผู้มีฐานะ สังเกตุจากเครื่องแต่งกาย


การแต่งกายของชาวบ้านล้านนาแต่โบราณ





การแต่งกายปัจจุบันของคนแก่ยังคงนุ่งซิ่นมวยผมห่มผ้าอยู่

เครื่องนุ่งห่มชาย
เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ชายชาวล้านนาโดยเฉพาะเชียงใหม่นิยมการสักขาลาย ซึ่งสับขายาว จะเป็นการสักตั้งแต่เอวลงมาเสมอเข่าหรือต่ำกว่าเข่าเล็กน้อย ส่วนสับขาก้อม จะเป็นการสักในช่วงเอวถึงกลางขาการสับหมึกคือการสักยันต์ด้วยหมึกดำ กล่าวกันว่าหญิงสาวจะเมินชายหนุ่ม ที่ปล่อยสะโพกขาว เพราะถือว่าเป็นคนขี้ขลาด 

ผ้านุ่งของชายเป็นผ้าพื้นซึ่งเป็นผ้าฝ้ายทอมือ เรียกว่า ผ้าตาโก้ง คือผ้าลายดำสลับขาวซึ่งมีวิธีนุ่งสามแบบ คือ

๑. การนุ่งแบบปกติจะจับรวบตรงเอวแล้วเหน็บตรงกึ่งกลาง มีบางส่วนเหลือปล่อยห้อยลงมาจากเอว

๒. อีกวิธีหนึ่งจับรวบเหน็บตรงเอว ส่วนชายอีกด้านหนึ่งดึงไปเหน็บไว้ด้านหลังคล้ายกับนุ่งโจงกระเบน เรียกว่า นุ่งผ้าต้อย

๓. เป็นการนุ่งผ้าที่มุ่งความกระชับรัดกุมจนมองเห็นสะโพกทั้งสองข้างเผยให้เห็น รอยสักได้ชัดเจนเรียกว่า เฅว็ดม่าม หรือ เฅ็ดม่าม ในเมื่อต้องการความกระฉับกระเฉงสะดวกในการต่อสู้ ทำงาน ขุดดิน ทำไร่ ทำนา ขี่ควายในการนุ่งผ้าทั้ง ๓ แบบนี้ ส่วนบนจะเปลือยอก ส่วนเตี่ยว หรือ กางเกงที่ใช้นุ่งนั้นมีรูปแบบคล้ายกับกางเกงจีนคือตัวโต เป้าหลวม เมื่อตัดเย็บจะเห็นว่ามีแนวตะเข็บถึงห้าแนว จึงเรียกว่าเตี่ยวห้าดูก เตี่ยวนี้จะมีทั้งขาสั้น (ครึ่งหน้าแข้ง) ที่เรียกเตี่ยวสะดอ และชนิดขายาวถึงข้อเท้าเรียกว่า เตี่ยวยาว (มักเข้าใจกันว่าเรียกเตี่ยวสะดอทั้งขาสั้นและขายาว) เตี่ยวนี้ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายทอมือ แต่เจ้านายและผู้มีอันจะกินนั้น แม้เสื้อผ้าจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไปก็ตาม แต่ก็มักเลือกสรรวัสดุที่ประณีต มีค่า ทั้งยังมีโอกาสใช้เส้นใยที่ทอจากต่างประเทศอีกด้วย ส่วนกางเกงแบบสมัยใหม่เรียว่า เตี่ยวหลัง ชายชาวเชียงใหม่จะไม่สวมเสื้อ แม้ในยามหนาวก็จะใช้ผ้าทุ้ม (อ่าน”ผ้าตุ๊ม”) ปกคลุมร่างกาย ผ้าทุ้มนี้เป็นที่นิยมใช้ทั้งชายและหญิง สีของผ้าจะย้อมด้วยสีจากพืช เช่น คราม มะเกลือ หรือ แก่นขนุน เป็นต้น สำหรับการสวมเสื้อนั้นมานิยมกันในตอนหลัง 

ซึ่งพบหลักฐานชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมซึ่งมีอยู่ ๒ แบบ
แบบแรก .. เป็นเสื้อคอกลมแขนสั้นหรือแขนยาวผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก มีกระเป๋าปะทั้งสองข้างสีของเสื้อเป็นสีขาวตุ่นของใยฝ้าย มีบ้างที่ย้อมครามที่เรียกว่า หม้อห้อม 

แบบที่สอง .. เป็นเสื้อคอกลมผ่าครึ่งอก ติดกระดุมหอยสองเม็ด มีกระเป๋าหรือไม่มีก็ได้


ประมาณรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชายชาวเชียงใหม่เริ่มนิยมนุ่งกางเกงแพรจีนสีต่างๆหรือแพรปังลิ้น และนิยมสวมเสื้อมิสสะกีที่เป็นเสื้อตัดเย็บจากผ้ามัสลินหรือผ้าป่านซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อคอกลม ผ่าครึ่งอก ติดบ่าต่อมหอยคือกระดุมหอยสองเม็ด ผ่าเฉลียงระหว่างตัวเสื้อกับแขนเพื่อให้ใส่ได้สบาย มีกระเป๋าติดตรงกลางด้านล่าง นอกจากนี้ยังมีเสื้อคอกลมหรือคอแหลมผ่าหน้าตลอดติดกระดุมหอย ใช้วิธีการตัดเย็บเช่นเดียวกับเสื้อมิสสะกี แต่ที่พิเศษออกไปคือมีกระเป๋าทั้งสองข้าง ที่เห็นแปลกออกไปบ้างคือเจ้านายบางท่านอาจนุ่งเตี่ยวโย้ง (กางเกงเป้ายานมาก) สวมกับเสื้อมิสสะกี หรือเสื้อผ้าไหมสีดำตัดคล้ายเสื้อกุยเฮง ในบรรดาเจ้านายแล้ว เสื้อผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษหรือเป็นพิธีการจะนุ่งผ้าไหมโจงกระเบน เสื้อแขนยาวคล้าย “เสื้อพระราชทาน” มีผ้าไหมคาดเอว ต่อมาได้มีการนิยมนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้ายาวสีขาว พร้อมด้วยรองเท้าคัทชูสีดำเช่นเดียวกับทางกรุงเทพฯ














วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ซินไทยวนในศรีสัชนาลัย หมู่บ้านป่างิ้ว วังค่า ภูนก ท่าโพธิ์ และบ้านตึก


 ซิ่นตีนจกบ้านภูนก บ้านตึก 

 ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

 ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

  ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

  ซิ่นตีนจกของอำเภอลอง จังหวัดแพร่

 ซิ่นตีนจกของบ้านชัยจุมพลเมืิองลับแล อุตรดิตถ์

ซิ่นตีนจกของบ้านชัยจุมพล เมืิองลับแล อุตรดิตถ์

ข้อสันนิฐานชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย
           รูปแบบผ้าทอของชาวบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์ และบ้านภูนก บ้านตึก เอกลักษณ์เดิมเป็นแบบไทยวน เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ ชาวไทยวน ไทโยนก หรือ ชาวล้านนา จากสันนิฐานว่าหมู่บ้านป่างิ้ว มีอาณาเขตใกล้เคียงกับบ้านตึกที่มีอาณาเขตติดต่อกับลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดแพร่ และลวดลายของผ้าตีนจกบ้านป่างงิ้วก็ได้มีความคล้ายครึงกับผ้าตีนจกเมืองลับแลเป็นอย่างมาก แต่ในเมืองลับแลนั้น จกจะเป็นสีแบบเอกรงค์ คือมีสีเด่นเพียงสีเดียวเช่น สีทอง สีเขียว ที่นิยมกันสมัยก่อนที่จะมีการเพิ่มสีสั่นขึ้นมาเป็นพหุรงค์ แต่ในบ้านป่างงิ้วเองก็มีทั้งแบบเอกรงค์ และพหุรงค์ จึงได้ทำการเปรียบเทียบว่า ชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว แม่ราก ท่าด่าน วังค่า ท่าโพธิ์ มีความเป็นมาอย่างไรจากการทอผ้า แต่นั้นก็ยังเป็นแค่สันนิฐานจากข้าพเจ้า ในการสืบรากเหง้าบรรพบุรุษนั้น ชาวบ้านป่างิ้วใช้ภาษาแบบไทกะได หรือใช้ภาษาแบบล้านนา แต่ด้วยรูปแบบทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนบ้านป่างงิ้วมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านหาดเสี้ยวและหาดสูง ซึ่งเป็นชาวไทยพวนที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและประเพณี จึงโดนกลืนวัฒนธรรม การทอผ้าแบบไทยวนตามวิถีเดิมได้ค่อยๆสูญหายไปบ้างเป็นบางส่วน ชาวบ้านนิยมทอผ้าด้วยลายแบบชาวไทยพวนมากขึ้นเพราะมีความนิยม และราคาสูง และความกว้างของตีนน้อยกว่า ลายผ้าทอของชาวบ้านป่างิ้วจึงเรือยหายไปบ้าง 
            จากการเทียบเคียงลายผ้า ข้าพเจ้าได้พยายามเทียบกับลายตีนจกของจังหวัดแพร่ และ อุตรดิตถ์ ปรากฎว่าลวดลายของชาวบ้านป่างิ้ว มีความคล้ายครึงกับลายผ้าของชาวบ้านตึกและเมืองลับแลของอุตรดิตถ์เป็นอย่างมาก จึงคิดว่าชาวบ้านป่างิ้วน่าจะเป็นกลุ่มชาวไทยวนที่อพยพมาจากลับแล บ้านตึกมาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในอดีตชาวเมืองศรีสัชนาลัยมีการก่อตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอด้ง ที่บ้านตึก เมืองด้งในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2441 ก่อนที่จะมีการย้ายมายังบ้านหาดเสี้ยวในปัจจุบันใน ปี พ.ศ. 2458 และในประวัติว่าชาวไทพวนได้อพยพมายังบ้านหาดเสี้ยวจากเชียงขวางประเทศลาวเป็นเวลาประมาน 170 ปี แล้ว แต่ในบันทึกเกี่ยวกับชาวบ้านป่างิ้วหรือหมู่บ้านใกล้เคียงไม่มีอยู่เลย ดังนั้นอาจจะสันนิฐานได้ว่า ชาวไทยวนบ้านป่างิ้วได้อพยพมาอยู่หลังจากชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวเกือบ 100 ปี อาจจะมาพร้อมกับการย้ายที่ว่าการอำเภอจากเมืองด้ง เมื่อที่ทำการราชการย้ายก็อาจจะมีต้องมีการนำคนจากถิ่นฐานเดิมย้ายตามมาด้วย และอาจจะเป็นคนจากบ้านเมืองด้งที่ย้ายมามายังหาดเสี้ยวโดยให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ถัดจากบ้านหาดเสี้ยว 3 กิโลเมตร เป็นบางส่วน หรือ ข้อสันนิฐานอีกด้านหนึงอาจจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนหน้าชาวไทยพวนแล้วก็เป็นได้ เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีวัดเป็นจำนวนสองวัด ที่มีอายุหลายร้อยปี และมีพระพุทธรูปสองพี่น้องสมัยสุโขทัย ณ วัดป่างิ้วในปัจจุบัน ซึ่งอีกวัดหนึ่งได้ร้างไปนานแล้ว ตามคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นที่ว่าหมู่บ้านป่างิ้วมีอายุร่วม 300 ปี และเส้นทางการเดินทางระหว่างป่างิ้ว บ้านทุ่งพล้อ และ บ้านตึก มีอาณาเขตติดต่อกัน โดนในประวัติได้เล่าถึงการอพยพมายังเมืองด้งว่ามีชายคนนึงย้ายถิ่นฐานมายังบ้านตึก ตึกแปลว่า สุด เพราะสุดทางเขาแล้ว และบ้านตึก ทุ่งพล้อ ไล่มาถึงป่างิ้ว มีดอยเขามุ้ง ซึ้งทั้งสามหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่อยู่เชิงดอยเขามุ้งทั้งสิ้น จึงมีความเป็นไปได้อีกประการว่า ชาวบ้านตึก ทุ่งพล้อ ป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์ คือกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันที่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาพร้อมกันโดยแยกกระจายออกเป็นส่วนๆเพื่อหาที่ทำมาหากิน โดยที่บ้านป่างิ้วเป็นที่ราบลุ่มน้ำยมจึงทำการปลูกข้าวได้ดีและมีนาเป็นจำนวนมาก โดยในตำนานยังมีการกล่าวถึงเจ้าพ่อหมื่นด้ง  โอรสเจ้าหมื่นโลกสามล้าน เจ้านครลำปาง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 1993 มีนามว่าเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อเจริญชันษาแล้วได้เป็นแม่ทัพของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหมื่นด้ง เจ้าเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 1986 และได้รักษาการเจ้าเมืองเชียงชื่น ระหว่าง ปี พ.ศ. 2003 - 2012 อีกด้วย ในห้วงเวลานี้ คงจะได้มาตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชนาลัย หรือ เชียงชื่น ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณวัดต้นสนโพธาราม คำว่าเมืองด้ง ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ. ๒๔๒๘ ใบบอกเมืองสวรรคโลก จ.ศ. ๑๒๔๗ แสดงว่าเมืองด้งคง จะได้รับการยกฐานะชุมชนบริเวณบ้านตึกขึ้นเป็นเมือง ตำแหน่งเจ้าเมืองมียศเป็นที่พระเมืองด้ง ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองสวรรคโลก ดังนั้น ความคลุ่มเครือทางประวัติศาสตร์ของชาวป่างิ้วจึงยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัด จากคำบอกเล่าและการเทียบเคียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเราดูจากลวดลายของผ้าทอแล้วนั้น อาจจะสันนิฐานได้ว่าชาวบ้านป่างิ้วน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้านตึก และ เมืองลับแล เพราะลวดลายของผ้า ที่เหมือนกัน         
            ดังนั้นข้อสันนิฐานข้าพเจ้าคิดว่ามีมูลมากที่สุดน่าจะเป็นอันนี้ครับคือ หมู่บ้านป่างิ้วเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีชาวไทยวนเข้ามาอาศัยเป็นเวลานานกว่า 500 - 300 ปีแล้ว โดยเป็นคนกลุ่มเดียวกับกับชาวบ้านตึก และ ลับแลของอุตรดิตถ์ โดยตั้งหมู่บ้านบริเวณเชิงดอยเขามุ้ง โดยมีแม่น้ำยมไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ไล่ลัดเลาะไปเรื่อยตามคลองแม่รากถึงบ้านตึกในสุดติดภูเขา โดยมีลวดลายผ้าตีนจกลายเดียวกันเป็นตัวเชือมโยงความสัมพันธ์ โดยกระจายหมู่บ้านไทยวนไปคือ บ้านแม่ราก ท่าด่าน ป่างิ้ว แม่สำ วังค่า ท่าโพธื์ โดยมีชาวไทพวนเพิ่งอพยพมาอยู่ได้ประมาน 180 ปี โดยมีหมู่บ้านอยู่ติดกันคือ บ้านหาดเสี้ยวและหาดสูง ประกอบกับเคยเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยมีเจ้าหมื่นด้งนคร หรือเจ้าพ่อเมืองด้ง มาดูแลยังหมู่บ้านบ้านตึกเป็นจุดตั้ง เมื่อ 500 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สุโขทัยอ่อนแอ จึงอาจจะเป็นการที่เจ้าหมืนด้งนำคนในอาณาเขตการดูแลของโยนกล้านนาในสมัยนั้นมาติดตามมาด้วย และมีบางส่วนที่ตามมาหลังจากนั้น โดยที่เจ้าหมื่นด้ง แม่ทัพเอกของพระเจ้าติโลกราช มหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา มีฐานนันดรเป็นอาของพระเจ้าติโลกราช สร้างเมืองนี้เพื่อเป็นหน้าด่านไว้ยันทัพกรุงศรีอยุธยาไม่ให้ไปถึงอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น  โดยมีความเชื่อมโยงกับลิลิตยวนพ่าย เจ้าด้งนครเดิมเป็นเจ้าครองเมืองลำปาง แต่ต้องลงมาดูแลราชการและเข้ามาช่วยทัพล้านนากับอยุธยาที่สุโขทัย ในช่วงสมัยเจ้าพระบรมไตรโลกนาถ และเจ้าหมื่นด้งยังได้มีการจัดทัพไปตีกับเจ้าเมืองฝางที่อุตรดิตถ์โดยทัพของเจ้าหมื่นด้งชนะเจ้าพระฝาง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำคนโยนกจากลับแลเพราะเป็นทางผ่านระหว่างสุโขทัยกับอุตรดิตถ์ติดตามมายังบ้านตึกและกระจายตัวกันออกเป็นหมู่บ้านต่างๆดังในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคที่ศรีสัชนาลัยมีที่ว่าการอำเภอ สมัยแรกนั้นที่ว่าการอำเภออยู่ที่เมืองด้ง บ้านตึกปัจจุบัน ซิ้งมีระยะทางไกลจากลุ่มน้ำยมถึง 12 กิโลเมตร นายอำเภอคนที่ 3 ของอำเภอเมืองด้ง ชื่อขุนศรีทิพบาลมา จึงทำการย้ายที่ว่าการมายัง ต.ป่างิ้ว อ.ศรีสัชฯเพราะพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านป่างิ้วมีแม่น้ำยมไหลผ่านเหมาะแก่การตั้งที่ว่าการอำเภอเพราะสะดวกในการคมนาคม โดยยังชื่ออำเภอด้งเหมือนเดิม ตั้งอยู่ได้ประมาณ 5 ปี เมื่อขุนศรีพิบาลเกษียณอายุราชการ และนายอำเภอคนใหม่ยังไม่เข้ามารับตำแหน่งนั้น ผู้ร้ายได้เข้าปล้นที่ว่าการอำเภอด้ง และเผาที่ว่าการอำเภอด้งที่ตำบลป่างิ้ว ด้วยต่อมานายอำเภอคนที่4 คือพระยาพิศาลภูเบท มารับตำแหน่งใหม่ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ มาตั้งที่บ้านหาดเสี้ยวประมาณปีพ.ศ.2458และยังใช้ชื่อ อำเภอด้งจึงมีขอสันนิฐานได้ว่า ป่างิ้วน่าจะเป็นเมืองโบราณแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชโดยเป็นชาวโยนกกลุ่มเดียวกับชาวบ้านตึกก็เป็นได้
            ลักษณะหมู่บ้านของชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจคือวัดป่างิ้ว สุทธาราม รูปแบบของชาวบ้านที่นี้ทำการเกษตรและทอผ้า การทำนาของบ้านป่างิ้วเป็นนาปีและนาปลัง ชาวบ้านที่นี้มีความพอเพียง มีวัฒนธรรมทางภาษาแบบไทยวน แต่วัฒนธรรมบางส่วนถูกกลืนไปกับชาวไทพวน เช่นการทอผ้า การแต่งกาย แต่วัฒนธรรมการไปวัดยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ชาวบ้านที่นี้นิยมตักบาตรหน้าบ้านโดยมีการตีเกราะเคาะไม้ที่แต่ละซอยทำไว้เพื่อให้สัญญานว่าพระได้เดินมาถึงแล้ว ชาวบ้านบางส่วนเมื่อตักบาตรเสร็จจะเดินตามพระมายังวัดเพื่อรับศีลรับพร ก่อนที่จะมีชาวบ้านบางส่วนตามมาสมทบเพื่อทำการตักบาตรและถวายอาหารเพิ่มเติม วัฒนธรรมส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับการตักบาตรของชาวลับแลในบางวัดอยู่บ้าง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ข้าพเจ้าสันนิฐานไว้ 

ข้อมูลชาวไทยวนทั่วไป
ชาวไทยวน หรือคนเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต-กะได ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา หลังจากได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองเชียงแสน อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยวน และในบางกลุ่มได้อพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ภูมิภาคภาคอื่นๆของประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครอง และภาวะสงคราม เช่น จังหวัดสระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา และสุโขทัย เป็นต้น
ชาวไทยวนมีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่มีความพิเศษ จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย และจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ทราบได้ว่าชาวไทยวน มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างไปจากกลุ่มไทอื่นๆ โดยแสดงให้เห็นชัดในเครื่องแต่งกายของสตรีที่เรียกว่า ผ้าซิ่น ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายหลักของสตรีในแถบภูมิภาคนี้ ผ้าซิ่นในชีวิตประจำวันของสตรีไทยวนส่วนใหญ่เป็นซิ่นที่ประกอบจากผ้าริ้วลายขวา ต่อตีนด้วยผ้าสีแดงหรือดำ และต่อหัวซิ่นด้วยผ้าสีขาว สีแดงหรือดำ และอาจจะเป็นผ้าสีเดียวก็ได้ โดยการเย็บเข้าด้วยกัน เรียกซิ่นชนิดนี้ว่า ซิ่นต๋า หรือ ซิ่นต่อตีนต่อเอว
ลักษณะผ้าซิ่นของสตรีชาวไทยวนส่วนใหญ่จะนิยมนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้าในขณะที่บางกลุ่มอาจจะนุ่งลงมาเพียงแข้งตามสภาวะภูมิประเทศของที่อยู่อาศัย ในอดีตสตรีชาวไทยวนไม่นิยมสวมเสื้อเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่มักจะมีผ้าที่เป็นอเนกประสงค์ โดยใช้คล้องคอ ใช้พันมัดหน้าอก(มัดนม) พาดบ่า หรือโพกศรีษะก็ได้ โดยที่สตรีชาวไทยวนทุกชนชั้นจะนิยมไว้ผมยาวเกล้าผมมุ่นมวยปักปิ่น ใส่ลานหู นิยมสวมเครื่องประดับที่เป็นสร้อยตัว กำไล แหวน เข็มขัด และเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งการเปลือยอกถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นในการเข้าสู่พิธีการซึ่งจะใช้ผ้าห่มแบบเฉียงที่เรียกว่า ผ้าสะหว้าย  จากผ้าเนื้อดีมีราคา สำหรับในโอกาสพิเศษหรือไปวัด
สตรีชาวไทยวน นิยมนุ่งผ้าซิ่นที่มีการต่อตีนด้วยผ้าทอพิเศษที่เรียกว่า ตีนจก คือซิ่นต่อเชิง ให้ดูงดงามกว่าธรรมดานอกจากนี้ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าซิ่นยังต่างกันออกไป อันจะเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการบ่งบอกถึงรสนิยมร่วมของกลุ่ม แบ่งขอบเขตทางชาติพันธุ์ แหล่งที่มาและความเชื่อที่แฝงมาในลวดลายตีนผ้าซิ่นนั้นอัตลักษณ์ของ ซิ่นตีนจก นั้นประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ “หัวซิ่น ส่วนนี้มักเป็นผ้าฝ้ายสีขาวต่อกับผ้าสีแดง หรืออาจจะต่อเฉพาะผ้าสีแดงเพียงอย่างเดียวก็ได้ ส่วนที่สองคือ ตัวซิ่น” นิยมใช้ผ้าริ้วลายขวางกับลำตัว เรียกว่า ลายต๋า  มีทั้งทอด้วยสีเดียวเสมอกันเรียกกันว่า ซิ่นต๋าเหล้ม และทอสลับสีต่างๆเรียกว่า ซิ่นต๋าหมู่ ส่วนสุดท้ายเรียกว่า ตีนซิ่น” เป็นส่วนสำคัญของซิ่นตีนจกเพราะจะใช้ผ้าที่ทอด้วยวิธีการจกเป็นลวดลายพิเศษที่มีความงดงามพิเศษเพื่อมาต่อเป็นเชิงของผ้าซิ่น เป็นที่มาของชื่อเรียกผ้าซิ่นชนิดนี้นั่นเอง การทำตีนจกสำหรับต่อเชิงผ้าซิ่นสตรีนั้น นับเป็นงานประณีตศิลป์ที่แสดงถึงความละเอียดอ่อน ประณีต และความมีรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของหรือช่างฝีมือผู้ถักทอ และหากจะกล่าวถึงซิ่นตีนจกในเชิงคุณค่าความสำคัญทางด้านความเชื่อ และวัฒนธรรมแล้ว ลวดลายที่ปรากฏอยู่ในตีนจกนั้นเป็นภูมิปัญญาของช่างฝีมือผู้ถักทอ ซึ่งได้รับการเพาะบ่มเป็นอย่างดีจากรุ่นสู่รุ่นโดยเฉพาะสตรี จากการถ่ายทอดของผู้ที่เป็นแม่ ในวัยแรกรุ่นของสตรีชาวไทยวนล้านนานั้นมักจะถูกเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะแต่เดิมจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แม่และยายจะอบรมสั่งสอนให้ลูกสาวได้เรียนรู้จักมารยาททางสังคม ตลอดจนการใช้ชีวิต การเรียนรู้ทุกอย่างจึงตกทอดมาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางครอบครัวที่ได้สืบทอดจากแม่และยายได้แก่  การทำอาหาร การทอผ้า และการดูแลจารีตประเพณีทางสังคม ซึ่งการอบรมสั่งสอนนี้จะบ่มเพาะประสบการณ์ชีวิตให้หญิงสามารถออกเรือนแต่งงาน มีคู่ครองต่อไปได้ หนึ่งในภูมิปัญญาสั่งสมที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้น คือลวดลายที่ปรากฏอยู่ในผืนผ้าตีนจก ไม่ว่าจะเป็นลวดลายโคม ลายขัน หรือลายขอ  ลายนกไล่ ลายกุดลาว เป็นต้น ที่มีการสร้างลวดลายที่มีลักษณะพิเศษ มีความเป็นจำเพราะของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวภายในกรอบจารีตเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างลวดลายให้แตกต่างไปในแต่ละหมู่บ้าน เช่น การเพิ่มลวดลายพิเศษลงในชุดลายโคม ลายขัน ลายโง๊ะ หรือช่วงหางสะเปา ซึ่งรายละเอียดของความแตกต่างด้านลวดลายเหล่านี้เป็นสิ่งควรจะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดซิ่นตีนจกของชาวไทยวนในแต่ละท้องที่จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ซิ่นตีนจกในเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นตีนจกที่มีลักษณะที่เป็นมาตรฐานและมีความสวยงาม นิยมทอด้วยไหมและดิ้นเงินดิ้นทอง ส่วนซิ่นตีนจกแบบชานเมืองลำปาง เขตแม่ทะ ไหล่หิน เสริมงาม มักมีสีสันฉูดฉาดและมีความหลากหลายของลวดลาย ซิ่นตีนจกเขตฮอด-ดอยเต่า หรือซิ่นน้ำถ้วมมีสีสันฉูดฉาด ลวดลายจะมีขนาดใหญ่และหางสะเปาเป็นสีดำล้วน ซิ่นตีนจกหล่ายน่าน เข้าใจว่าเป็นลักษณะของซิ่นตีนจกแบบดั้งเดิมอย่างหนึ่งของชาวไทยวน คือ นิยมจกบนท้องสีแดง บางผืนไม่มีหางสะเปา ตัวซิ่นมีความพิเศษคือ มี2-3ตะเข็บ ลวดลายงดงามเกิดขึ้นจากการใช้เทคนิคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจก ขิด ล้วงและมัดหมี่ นอกจากนี้ชาวไทยวนที่โยกย้ายไปแหล่งอื่นก็มีผ้าซิ่นตีนจกที่มีความงดงามด้วย เช่น ตีนจกแบบคูบัว ดอนแร่ และหนองโพ-บางกะโด ในเขตจังหวัดราชบุรี เป็นต้น
ปัจจุบัน มีการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอซิ่นตีนจกลายโบราณในหลากหลายพื้นที่ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านและผู้สูงอายุซึ่งไม่มีงานทำ ชาวบ้านไม่ต้องออกไปหางานทำนอกหมู่บ้านก็สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกด้วย

นำนักเรียนมาเรียนรู้การคัดแยกขยะ ณ บ้านท่าด้าน ตำบลป่างิ้ว ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย


เยาวชนป่างิ้วรุ่นใหม่ รู้จักแยกขยะสร้างรายได้

 ฟังวิทยากร ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าด่าน บรรยายโครงการแยกขยะ การสร้างรายได้ และแปลรูปขยะ

 เด็กนั้งฟังการบรรยาย

นำทีมด้วย ประถม 6 และ 5

เรียนรู้จากของจริง

ถ่ายรูปรวม

เด็กจะนำความรู้กลับไปใช้เองที่บ้านด้วยการเริ่มแยกขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตอนขายขยะให้รถรับซื้อ


ขยะ เป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งในสังคมปัจจุบัน ในการกำจัดขยะเหล่านั้น ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายนี่เองส่งผลให้มีขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ในสังคมมากมาย ได้แก่
- บ้านเมืองสกปรกไม่น่ามอง เสียทัศนียภาพ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน
- เป็นแหล่งเพราะพันธุ์สัตว์และพาหนะนำโรคต่าง ๆ เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ทั้งยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคโดยตรง เช่น อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง บิด โรคผิวหนัง บาดทะยัก โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น
- ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท ลงสู่พื้นดิน และแหล่งน้ำ
- ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย
- ท่อระบายน้ำอุดตัน อันเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม
- เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เขม่า ควัน จากการเผาขยะ และเกิด ก๊าชมีเทนจากการฝังกลบขยะ
- ขยะบางชนิดไม่ย่อยสลาย และกำจัดได้ยาก เช่น โฟม พลาสติก ทำให้ตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม
โครงการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนร่วมกันคัดแยกขยะ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการลดปริมาณขยะที่ออกมาจากบ้านเรือน สำนักงานและสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน

การลดปริมาณขยะด้วย 4 R
1. Reduce ลดการใช้ ลดการบริโภคสินค้าที่ฟุ่มเฟือย ใช้อย่างประหยัด และใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ทำอาหารให้พอดีรับประทาน เลือกซื้อสินค้าที่ไม่บรรจุห่อหลายชั้น ใช้ผ้าเช็ดหน้า แทนกระดาษทิชชู พกถุงผ้าไปตลาด
2. Repair การซ่อมแซม การซ่อมแซมวัสดุสิ่งของที่ชำรุด ให้อยู่ในสภาพที่ดีใช้งานได้นาน ไม่ต้องทิ้งเป็นขยะหรือต้องสิ้นเปลืองซื้อใหม่
3. Reuse การใช้ซ้ำ การนำสิ่งของที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เช่น ขวดแก้วนำไปล้างไว้ใส่น้ำดื่ม
4. Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ การนำขยะมาแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช่ใหม่ทำให้ไม่ต้องนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตสิ่งของต่าง ๆ แต่ใช้ขยะเป็นวัตถุดิบทดแทนในการผลิตสิ่งของต่าง ๆ 

แนวทางการใช้ประโยชน์จากวัสดุรีไซเคิล โดยทั่วไปการแยกขยะที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน โรงเรียน ตลาดโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และสถานที่อื่น ๆ นั้นแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. ขยะเศษอาหาร แยกเพื่อนำไปกำจัดโดยวิธีปุ๋ยหมัก
2. ขยะยังใช้ได้ หรือขยะรีไซเคิลแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ โดยการนำกลับเข้าสู่ขบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล คือ การนำขยะหรือวัสดุที่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการผลิตเป็นสินค้าใหม่ โดยโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีขบวนการผลิต 4 ขั้นตอน ได้แก่ การรวบรวม การแยกวัสดุแต่ละชนิดออกจากกัน การผลิตหรือปรับปรุง และสุดท้าย การนำมาใช้ประโยชน์ โดยในส่วนของขั้นตอนการผลิต นั้นวัสดุพวกแก้ว กระดาษ พลาสติก และโลหะ จะผ่านกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน
3. ขยะพิษ แยกเพื่อรวบรวมส่งกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจใช้ได้ทั้งวิธีการฝังกลบโดยวิธีพิเศษ และการเผา
หลังจากวัสดุผ่านกระบวนการผลิต จะได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยจะพบสัญลักษณ์รีไซเคิล ปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทุกชิ้น

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลทั่วไปของ อำเภอศรีสัชนาลัย


ข้อมูลพื้นฐานของอำเภอศรีสัชนาลัย

ข้อมูลทั่วไปของอำเภอศรีสัชนาลัย
1.1 คำขวัญประจำอำเภอศรีสัชนาลัย ประเพณีลือก้อง ทองโบราณ ย่านผ้าซิ่น ถิ่นมรดกโลก
1.2 สภาพภูมิศาสตร์ อำเภอศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้ 
  1. ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลับแลและอำเภอตรอน (จังหวัดอุตรดิตถ์)
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอศรีนคร อำเภอสวรรคโลก และอำเภอทุ่งเสลี่ยม
  3. ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเถิน (จังหวัดลำปาง)

1.3 ลักษณะภูมิประเทศ 
พื้นที่ราบลุ่ม  สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ได้แก่   ตำบลดงคู่, ป่างิ้ว, สารจิตร, หนองอ้อ, ศรีสัชนาลัย, ท่าชัย, หาดเสี้ยว  
พื้นที่ภูเขาและค่อยข้างลาดชัน บริเวณตำบลแม่สิน, แม่สำ, บ้านตึก, บ้านแก่ง

1.4 หน่วยการปกครอง อำเภอศรีสัชนาลัยแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 11 ตำบล 148 หมู่บ้าน ได้แก่
  1. หาดเสี้ยว
  2. ป่างิ้ว 
  3. แม่สำ
  4. แม่สิน 
  5. บ้านตึก
  6. หนองอ้อ
  7. ท่าชัย 
  8. ศรีสัชนาลัย 
  9. ดงคู่ 
  10. บ้านแก่ง
  11. สารจิตร 

1.5 ลักษณะภูมิอากาศ มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ   ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย  33.0  องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.2 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,208.8๘ มิลลิเมตร โดยมีบริมาณฝนตกมากที่สุดของจังหวัด

1.6 ประชากร ประชากรในอำเภอศรีสัชนาลัยส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวไทยดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้นานมาแล้ว โดยมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนสำเนียงภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และยังมีกลุ่มชาวไทยพวนที่มาจากประเทศลาวตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ตำบลหาดเสี้ยว และ ตำบลป่างิ้ว โดยมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภาษาที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมี  ชนกลุ่มน้อย เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ม้ง  เย้า และลีซอ ซึ่งส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แพร่  ตาก และเพชรบูรณ์  ปัจจุบันชาวเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตตำบลบ้านแก่ง และตำบลแม่สิน แม่สำ ในอำเภอศรีสัชนาลัย

1.7 ทรัพยากร อำเภอศรีสัชนาลัยเป็นอำเภอหนึ่งที่มีพื้นที่มาก และเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วยป่าไม้มีค่า  มีพื้นที่ดินที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก มีแร่ธาตุที่สำคัญ มีแหล่งน้ำธรรมชาติและทรัพยากรการท่องเที่ยว  ทั้งแหล่งธรรมชาติที่งดงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวศรีสัชนาลัย


2.1 ประวัติ 
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ตั้งของเมืองศรีสัชนาลัย มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน คือมีทั้งที่ราบลุ่มริมแม่น้ำยมและที่ลาดเชิงเขาพระศรี และเขาใหญ่ ทำให้มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และสิ่งป้องกันทางธรรมชาติที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรูได้อย่างดีด้วย จากหลักฐานที่สำรวจพบ พวกขวานหินขัด (เครื่องมือ เครื่องใช้ ของคนสมัยโบราณ) ที่พบที่ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย รวมทั้งจาก หลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น แสดงว่ามีชุมชน เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 (พ.ศ.800) เป็นต้นมาเป็นชุมชนร่วมสมัย ทวารวดีในภาคกลางถัด ขึ้นมาเป็นหลักฐานของวัฒนธรรมร่วมสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 18, พ.ศ. 1700) ปรากฏหลักฐานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ในระยะนั้นเมืองศรีสัชนาลัยมีชื่อว่าเมืองเชลียง ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก ตำนานและพงศาวดารที่ยืนยันว่ามีเมืองโบราณ 2 เมือง อยู่ในลุ่มน้ำยมก่อนแล้ว คือ เมืองสุโขทัย และเมืองเชลียง ต่อมาได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้นทางด้านทิศเหนือของเมืองเชลียงห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญควบคู่กันมากับเมือง สุโขทัย โดยจากหลักฐานได้กล่าวถึงพ่อขุนศรีนาวนำถม ว่าเป็นกษัตริย์ครอง 2 นคร คือ เสวยราชย์ทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย (ก่อน พ.ศ. 1781) ต่อมาจนถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ.1781 - 1822) ทรงโปรดให้พ่อขุนบาลเมืองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนรามคำแหง พระยาลิไทก็เคยครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัย  เมืองศรีสัชนาลัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย ต่อมาจนแม้กระทั่งสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา และได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า เมืองสวรรคโลก เมืองศรีสัชนาลัยหรือเมืองสวรรคโลกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นเมืองสำคัญที่ผลิตภาชนะเครื่องเคลือบสังคโลกให้แก่กรุงศรีอยุธยา
มีหลักฐานเอกสารโบราณของไทยและจีนประมาณพุทธศตวรรษที่16 ได้กล่าวถึงเมืองโบราณแห่งหนึ่งอยู่ระหว่างบริเวณแถบเมืองสุโขทัย โดยเอกสารจีนโบราณราชวงศ์ซุงเรียกว่าเมืองเฉิงเหลียง พงศาวดารโบราณเรียกว่า แดนเฉลียง ก่อนช่วงเวลาที่พ่อขุนศรีอินทราทิตยืจ ะเป็นกษัตริย์ปกครองสุโขทัยนั้นมีเหตุการณ์ที่ปรากฏในศิลาจารึกตำนานและ พงศาวดารยืนยันว่าปรากฏมีเมืองโบราณ 2 เมืองในลุ่มแม่น้ำยมอยู่ก่อนแล้ว คือ เมืองสุโขทัย กับเมืองเชลียง พระมหากษัตริย์ไทยองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์ผาเมือง กับเมืองเชลียง พระมหากษัตริย์ไทยองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์ผาเมือง เคยเป็นเจ้าเมืองเชลียงก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัย เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นประชนม์ ขอมสบาด โขลญลำพงใช้กำลังยึดทั้งเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ต่อมาพ่อขุนผมเอง โอรสพ่อขุนศรีนามนำถมร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวได้ยึดเมืองทั้งสองกลับมาได้จน ในที่สุดพ่อขุนบางกลางหาวได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองสุโขทัย โดยมีพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต่อมาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ส่งพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ คือ พ่อขุนบาลเมืองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ต่อมาพ่อขุนบาลเมืองขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัยแล้วพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ปกครอง เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำว่าเมืองลูกหลวง เมืองศรีสัชนาลัยคงดำรงความเป็นเมืองบูกหลวงของสุโขทัยต่อมาอีกหลายชั่ว กษัตรยิ์แม้เมืองกรุงสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในช่วงต้น ๆ ของการเสียอิสรภาพเชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ แห่งราชวงศ์พระร่วงก็คงได้รับเกียรติปกครองดูแลเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ตามเดิม จนมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมืองนี้กลายเป็นสมรภูมิการรบครั้งสำคัญ และเป็นเมืองรับศึกระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยาและพระเจ้าติโลก ราชแห่งเชียงใหม่ชัยชนะของอยุธยาในศึกครั้งนั้นก่อให้เกิดวรรณคดีลืมพระ เกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งถือเป็นชิ้นเยี่ยมของวรรณคดีคือ ลิลิตยวนพ่าย ผลอันสำคัญหลังศึกยวนพ่ายคือเมืองศรีสัชนาลัย ตกอยู่ในการควบคุมของอยุธยาอย่างจริงจัง
 ในสมัยต่อมาเมื่อมีการจัดระบบการปกครองปรับปรุงเรื่องเชื้อสายราชวงศ์ให้เข้าอยู่ในระบบราชการเรียบร้อยแล้ว กรุงศรีอยุธยา ได้เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมืองเข้ามา ปกครองเมืองสวรรคโลกมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกระดับเมืองโท หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เมืองศรีสัชนาลัยหรือ สวรรคโลกถูก ทิ้งร้าง ต่อมาเมืองสวรรคโลกได้จัดตั้งขึ้นใหม่ ที่บ้านท่าชัยอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเดิม และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านวังไม้ขอน ซึ่งคือที่ตั้งของอำเภอสวรรคโลกในปัจจุบัน ส่วนชื่อเมืองศรีสัชนาลัยถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของอำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รวมเอาเขตพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณไว้ด้วย
ชนกลุ่มแรกที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มแตกของการก่อตั้งอำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน จากตำนานคงถือได้ว่าเป็นชนชาวบ้านตึกในปัจจุบันนี้เอง ซึ่งจากตำนานได้กล่าวไว้ว่าเมืองครั้งอดีตมีชายแก่คนหนึ่งได้เดินทางเข้ามรถึงบ้านแห่งนี้ (บ้านตึกในปัจจุบัน) เมื่อครั้งหมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีชื่อบ้าน โดยมุ่งหน้าจะไปตั้งหลักฐานทำมาหากินใจท้องที่ที่อุดมสมบูรณ์ พอถึงหมู่บ้านแห่งนี้แล้วก็คิดว่าคงเดินทางต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีภูเขาล้อมรอบกั้นขวางอยู่ข้างหน้าอีกด้วย กอร์ปกับในเวลานั้นมีฝนตกชุกมาก จึงได้เอ่ยขึ้นว่า ที่นี่ตึ๊กแล้ว ฝนก็ตึ๊กอย่างอื่นก็คงตึ๊กด้วย และจึงหยุดเดินทางต่อไปและได้ตั้งหลักฐานมั่นคงอยู่ที่บ้านแห่งนี้และต่อมาชาวบ้านแห่งนี้จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านตึ๊ก” ซึ่งต่อมาได้เรียกเพี้ยนมาเป็น “บ้านตึก” ในที่สุด (คำว่า “ตึ๊ก” คงมีความหมายว่า สิ้นสุดแล้ว เช่นอร่อยที่สุด ไกลที่สุด ดีที่สุด ฯลฯ ประชาชนจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านตึ๊กในที่สุดจนใช้อยู่จนปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2441 บ้านตึกได้ตั้งเป็นที่ว่าการอำเภอครั้งแรก ตั้งอยู่ที่บ้านปลายนา (หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านตึกในปัจจุบัน) เดิมชื่ออำเภอด้ง อยู่ห่างไปทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร สาเหตุที่ใช้ชื่อว่า “อำเภอด้ง” เนื่องจากบริเวณที่ตั้งอำเภอเป็นที่ราบและมีภูเขาล้อมรอบด้วยภูเขาเป็นรุปวงกลม คล้ายรูปกระด้ง จึงได้ตั้งชื่อว่า อำเภอด้ง ชื่อตั้งอยู่ได้นานถึง 12 ปี โดยมี นายอำเภอ 2 คน คือ คนที่ 1 ชื่อพระเมืองด้ง คนที่ 2 ชื่อหมื่นด้งนคร แต่ประชาชนนิยมเรียกนายอำเภอว่า เจ้าพ่อเมืองด้นหรือเจ้าปู่เมืองด้ง ต่อมาเมื่อนายอำเภอคนที่ 3 ชื่อขุนศรีทิพบาลมารักตำแห่งใหม่ได้พิจารณาเห็นว่าการคมนาคมไม่สะดวก เพราะในสมัยนั้นต้องใช้ลำนี้เป็นเส้นทางติดต่อคมนาคมกันเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งใหม่ที่บ้านป่างิ้ว ฝั่งตะวันออกริมแม่น้ำยม (ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย) และยังคงใช้ชื่ออำเภอว่า “อำเภอด้ง” เหมือนเดิมตั้งอยู่ได้นานประมาณ 5 ปี เมื่อขุนศรีทิพบาลเกษียณอายุราชการและนายอำเภอคนใหม่ยังไม่มาเข้ารับตำแหน่งนั้น ผู้ร้ายได้เข้าปล้นที่ว่าการอำเภอด้ง และได้เผาที่ว่าการอำเภอด้งด้วย และต่อมานายอำเภอคนที่ 4 คือ พระยาพิศาลภูเบท หรือพระยาพิศาลคีรี มารับตำแหน่งใหม่จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอลงมาตั้งที่บ้านหาดเซียว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2458 และยังใช้ชื่อว่า “อำเภอด้ง” เหมือนเดิม ซึ่งหมู่บ้านหากเซียวนี้เดิมชื่ออะไรไม่ปรากฏ ( บ้านหาดเชี่ยว หรือหาดเซี่ยว ตามสำเนียงไทพวน ซึ่งมาจากหาดบริเวณริมแม่น้ำในหมู่บ้านมีโขดหินมากมาย ทำให้น้ำไหลเชี่ยวกว่าที่อื่น) 
หลังจากได้ย้ายที่ว่าการอำเภอด้งมาอยู่ที่หมู่บ้านหาดเสี้ยว แล้วต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น “อำเภอหาดเสี้ยว” ตามที่กล่าวมาข้างต้นจนถึง พ.ศ. 2476 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว คณะรัฐบาลสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาพิจารราเห็นว่า ควรจะนำปูชนียสถาน หรือสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งเป็นชื่ออำเภอ/จังหวัด จึงได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอหาดเสี้ยวใหม่เป็น “อำเภอศรีสัชนาลัย” เพราะเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คู่กับเมืองเช่ลี้ยง ซึ่งปัจจุบันนี้เมืองศรีสัชนาลัยได้ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย ได้ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย ชาวบ้านเรียกว่าเมืองเก่า คำว่าศรีสัชนาลัยเดิมเขียนมีตัว ช. 2 ตัว จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2510 สมัยรัฐบาลชุดจอมพลถนอม กิตติขจร คณะราชบัณฑิตยสถาน ได้นำเอาชื่ออำเภอ/จังหวัดต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณาให้เข้ากับอักษรโรมัน ซึ่งอำเภอศรีสัชนาลัย ในสมัยนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยโดยให้ตัดตัว ช. ออก 1 ตัว จึงเขียนเป็น “ศรีสัชนาลัย” ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานิเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 2 เล่นที่ 84 ตอนที่ 56 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2510 และได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

2.2 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ประมาณ 550 กิโลเมตร เมืองโบราณศรีสัชนาลัยมีสภาพภูมิประเทศที่ตั้งของเมืองเป็นที่ราบเชิงเขาพระศรี และ เขาใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตก และมีลำน้ำยมอยู่ทางด้านทิศตะวันออก กรมศิลปากรได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประมาณ 28,217 ไร่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรใน พ.ศ.2534 เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรกและเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2533โบราณสถานที่สำคัญ เมืองโบราณศรีสัชนาลัย มีขอบเขตของผังเมืองที่ก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณ เมืองเชลียงเดิม กล่าวคือ แนวกำแพงเมืองเชลียงเดิม ทำเป็นคันดินยาวขนานไปตามลำน้ำยมโดยเริ่มจาก บริเวณวัดมหาธาตุเชลียงขนานลำน้ำยมเลยผ่านเขาพนมเพลิงออกไป ซึ่งยังคงปรากฎหลักฐานคันดินให้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ   ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น จึงได้พิจารณาเลือกบริเวณที่มีสภาพ ภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา กำหนดขอบเขตการก่อสร้างกำแพงเมืองจากศิลาแลง ลักษณะผังเมืองเป็น รูปหลายเหลี่ยมไม่สม่ำเสมอตามทิศทางของแม่น้ำยม ในช่วงนี้ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมี หลายแนวเพราะคงมีการผสมผสานเอาแนวกำแพงคันดินในสมัยที่เป็นเมืองเชลียงเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง ซึ่งรวมทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 215 แห่งโบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้ 
1.) โบราณสถานภายในกำแพงเมือง สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 28 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้ว เป็นต้น
2.) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดกุฎีราย เตาทุเรียงบ้านป่ายาง เตา ทุเรียงบ้านเกาะน้อย ซึ่งเป็น แหล่งผลิตภาชนะดินเผา “เครื่องสังคโลก” ที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย
3.) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสวนสัก วัดป่าแก้ว เป็นต้น
4.) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ และวัดโคกสิงคาราม เป็นต้น
5.) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 19 แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดพญาดำ วัดราหู วัดสระประทุม วัดพรหมสี่หน้า วัดยายตา เป็นต้น
6.) โบราณสถานนอกกำแพงเมืองบนภูเขา สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 15 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดเขาใหญ่บน วัดเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจดีย์รอบ และวัดเขาใหญ่ล่าง เป็นต้น 
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ร่วมกันกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฎแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทย ยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ผ้าทอตีนจก 9 ลาย บ้านหาดเสี้ยว

               การทอผ้าเป็นหัตถศิลป์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาที่เฉลียวฉลาดความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะนำเส้นใยจากวัสดุมาถักทอเป็นผืนผ้ามีลวดลายสีสันงามสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และส่งต่อมายังรุ่นลูก รุ่นหลาน บ่งบอกถึงชาติตระกูลที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา โดยเฉพาะการทอผ้าเป็นวิถีหนึ่งของชาวไทยพวนตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ในสมัยก่อนหญิงสาวไม่ได้เล่าเรียนหนังสือกันเมื่อเติบโตขึ้นพอที่จะช่วยพ่อ แม่ทำงานได้ ก็ช่วยทำงานทุกอย่าง ตามแต่พ่อ แม่จะมอบหมายให้ทำ เช่น ตักน้ำ ตำข้าว เลี้ยงน้อง เป็นต้นส่วนมากเวลากลางคืนก็ฝึกหัดทำฝ้ายซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะลงมือทอให้ได้ผ้าเป็นผืน ใครมีงานฝ้ายชนิดไหนทำก็นำฝ้ายพร้อมอุปกรณ์การทำฝ้ายมารวมกลุ่มทำกันเป็นพวกๆแต่ละพวกจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน วิธีการทำ คือ จุดไฟไว้ตรงกลาง แล้วนั่งล้อมวงกันทำมือก็ทำไป ปากก็คุยกันไปอย่างสนุกสนานถ้ามีชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมาเที่ยวและคุยด้วยก็ยิ่งเพิ่มความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น งานทำฝ้ายรู้สึกจะไม่ได้ผลเท่าไรดูเหมือนจะเอางานทำฝ้ายเป็นเครื่องบังหน้ามาทำร่วมกัน เพราะมุ่งหวังจะมาคุยเล่นกันเพื่อความสนุกสนานมากกว่า จึงไม่มีใครมาร่วมกันทำ เมื่อรับประทานอาหารเย็นเสร็จต่างคนต่างรีบมา ใครมาถึงก่อนก็จุดไฟไว้คอยเพื่อนไม่มีใครเกี่ยงงอนเอารัดเอาเปรียบกันส่วนฟืนสำหรับจุดไฟนั้นเขาก็พร้อมใจกันไปหาจากป่าในเวลากลางวัน เป็นไม้ไผ่แห้งตายซากเรียกว่า “หลัว”ไปเอามาคราวหนึ่งใช้ได้หลายวัน การทำฝ้ายร่วมกันเช่นนี้ เรียกว่า “ลงข่วง”ส่วนหญิงสาวรุ่นใหญ่ซึ่งมีความชำนาญในการทอผ้าแล้วจะทออยู่บนบ้านบ้างใต้ถุนบ้านบ้าง สุดแล้วแต่ตั้งกี่ทอผ้าไว้ที่ไหนก็ไปทอที่นั่นสำหรับผ้าที่ทอนั้นมีหลายประเภท เช่น ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าขาวผ้า ผ้าห่ม ในที่นี้จะกล่าวถึง“ผ้าซิ่นตีนจก” ผ้าซิ่นตีนจกของชาวพวนบ้านหาดเสี้ยวมีมานานนับศตวรรษแล้วลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกลุ่มผ้าซิ่นของชาวไทยอื่นๆ คือรายละเอียดในการออกแบบโครงสร้างและลวดลายบนผืนผ้าซิ่น แม้แต่ในพื้นที่ตำบลหาดเสี้ยวเดียวกันความแตกต่างของโครงสร้างและลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าจะไม่เหมือนกันคำกล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่า “ผ้าซิ่นตีนจกสามารถบอกแหล่งกำเนิดกลุ่มชนชาติพันธุ์ว่ามาจากกลุ่มใด หมู่บ้านใดได้เป็นอย่างดี”
                    ในสมัยก่อนผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าซิ่นที่ทอขึ้นมาไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ เกี่ยวกับความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพวนหาดเสี้ยว เช่น งานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์งานเทศกาลและพิธีการสำคัญ และในกระบวนการทอผ้าทั้งหมด ทุกประเภท ผ้าซิ่นตีนจกเป็นสิ่งที่ประณีตสวยงามที่สุดและยังแฝงไว้ด้วยความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวพวนหาดเสี้ยวไว้อีกด้วย 
   หญิงสาวส่วนมากอายุอยู่ในราว  16-17  ปี  ต้องได้ฝึกหัดทอผ้าตามกรรมวิธีข้างต้นนั้นต่อจากนี้ก็จะต้องเริ่มฝึกหัดทอ ผ้ากันอย่างเอาจริงเอาจังต่อไป  คือเริ่มฝึกหัดทำเชิงผ้าซึ่งมีลวดลายต่าง ๆ  “เรียกว่าซิ่นตีนจก”  ความจริงเริ่มฝึกหัดทอเฉพาะตีนจก  แต่เอาตัวผ้าซิ่นไปเรียกรวมเข้าด้วยจึงเรียกว่าซิ่นตีนจก  คำว่า  “จก”  ในที่นี้  หมายถึงอาการที่ใช้ขนเม่นชนิดที่แข็งแยกเส้นได้ยืนของหูกสอดหรือล้วนลงไปตาม ด้ายยืนที่แยกนั้น ควักเอาด้ายหรือไหมซึ่งอยู่ข้างล่างขึ้นมาข้างบน แล้วแยกด้ายยืนที่อื่นกดเส้นด้ายหรือไหมซึ่งควักขึ้นมานั้นลงไปข้างล่างอีก  ทำเช่นนี้จนตลอดกว้างของด้ายยืนเพื่อให้เป็นลวดลายความต้อง  แล้วทอสลับกันไปจนกว่าจะเสร็จเป็นตีนผ้าซิ่น  เมื่อทอเสร็จแล้วก็ทอตัวผ้าซิ่นซึ่งมีสีและลวดลายเหมาะสมกันตามที่กำหนด กฎเกณฑ์ไว้เป็นคู่กันสำหรับตีนชนิดนั้น ๆ  เสร็จแล้วก็เอาตีนและตัวผ้าซิ่นมาเย็บติดต่อกันเข้าเป็นผ้าซิ่นสำเร็จรูป  ใช้นุ่งได้เลย  เรียกว่าผ้าซิ่นตีนจก  หญิงสาวจะต้องผ่านการฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกนี้ด้วยกันทุกคน  เป็นอันว่าหญิงสาวทุกคนจะต้องมีผ้าซิ่นตีนจก  แล้วเก็บไว้สำหรับนุ่งในเวลามีงานออกหน้าออกตาเป็นครั้งเป็นคราว  ไม่ใช่นุ่งพร่ำเพรื่อ  ส่วนมากจะใช้นุ่งในเวลาไปทำบุญที่วัด  ใครไม่มีผ้าซิ่นตีนจกนุ่งก็จะต้องอายเพื่อนฝูงเข้ากับเพื่อนฝูงไม่สนิท  เพราะส่อแสดงตนว่าเป็นคนขี้เกียจคร้านไม่เอาการเอางาน  แม้แต่บรรดาพวกหนุ่ม ๆ  ก็ไม่สนใจจะมองเขาอีกด้วย  เนื่องด้วยการทอผ้าซิ่นตีนจกนี้  ต้องใช้ความเพียรพยายามและความละเอียดลออมาก  ทั้งต้องใช้เวลาทอนานมากด้วย  ดังนั้น  ผ้าซิ่นตีนจกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นุ่งว่า  เป็นคนขยันหมั่นเพียรได้  ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกแล้วมีความรู้ความสามารถที่จะทอผ้าอย่างอื่น ๆ  ได้ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป  และมีความเป็นสาวโดยสมบูรณ์แล้วพร้อมที่จะแต่งงานมีเย้ามีเรือน  และจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีด้วย
                  เมื่อหญิงสาวแต่งงานแล้ว  ก็เลิกนุ่งผ้าซิ่นตีนจก  ไม่นุ่งต่อไปอีกเลย  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นประเพณีอีกหนึ่งอย่าง  ซึ่งทำให้เราทราบว่าหญิงสาวที่นุ่งผ้าซิ่นตีจกนั้นยังไม่ได้แต่งงาน  เหมือนการปักปิ่นและเป็นสาวโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะแต่งงานได้  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้จะถือเป็นกฎเกณฑ์เช่นนั้นไม่ได้แล้ว





 ลายดอกมนสิบหก


 ลายน้ำอ่าง


ลายสองท้อง


สิบสองหน่วยตัด 


ลายสี่ขอ 


เครือกลาง 



                                                                      ลายแปดขอ



ลายเครือน้อย


ลายเครือใหญ่


อุปกรณ์ การทอผ้าตีนจก
1.เสิง หมายถึง ตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่ขนาดกลมเท่ากระด้งฝัดข้าว
2.อิ้ว หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้หีบเอาเมล็ดฝ้ายออก
3.กง หมายถึง อุปกรณ์ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ยิงฝ้าย
4.ตะลุ่ม หมายถึง อุปกรณ์ใช้ในขั้นตอนการยิงฝ้ายมีลักษณะเหมือนกระบุงใบใหญ่
5.หลา หมายถึง อุปกรณ์ใช้ปั่นด้าย
6.เปีย หมายถึง อุปกรณ์ทำด้วยไม้ใช้แยกฝ้ายออกเพื่อทำเป็นไจ
7.เผือ หมายถึง อุปกรณ์สำหรับค้นหูก เพื่อนำมาทำเป็นด้ายยืน
8.กี่ทอผ้า
9.ด้ายทอผ้า

 ส่วนประกอบของผ้าตีนจก 
ผ้าซิ่นตีนจก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1.หัวซิ่น คือ ส่วนบนของผ้าซิ่น
2.ตัวซิ่น คือ ส่วนกลางของผ้าซิ่น
3.ตีนซิ่น คือ ส่วนล่างของผ้าซิ่น
ซิ่น หมายถึง ผ้าที่ทอเป็นถุง ตีน หมายถึง โครงสร้างส่วนล่างที่ประกอบเป็นผ้าถุง จก หมายถึง ควักหรือล้วงด้วยมือ ในที่นี้หมายถึง อาการที่ใช้ขนเม่นชนิดที่แข็งแยกเส้นด้ายยืนของหูกสอดขึ้น หรือล้วงลงไปตามเส้นด้ายยืนที่แยกนั้นควักเอาด้ายหรือไหมซึ่งอยู่ข้างล่างขึ้นมาข้างบน แล้วแยกเส้นด้ายยืนที่อื่นอีกกดเส้นด้ายหรือไหมซึ่งควักขึ้นมานั้นลงไปข้างล่างอีกทำเช่นนี้จนตลอดความกว้างของด้ายยืน เพื่อให้ได้ลวดลายตามต้องการแล้วก็ทอสลับกันไปจนกว่าจะเสร็จเป็นตีนผ้าซิ่น เมื่อทอเสร็จแล้วก็ทอตัวผ้าซิ่นซึ่งมีสีและลวดลายเหมาะสมกันตามที่มีกำหนดกฏเกณฑ์ไว้เป็นคู่สำหรับตีนนั้นๆเสร็จแล้วก็เอาตีนและตัวผ้าซิ่นมาเย็บติดต่อกันเป็นผ้าซิ่นสำเร็จรูป ใช้นุ่งได้เลยเรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” หญิงสาวจะต้องผ่านการฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกด้วยกันทุกคนเป็นอันว่าหญิงสาวทุกคนจะต้องมีผ้าซิ่นตีนจกเก็บไว้นุ่งเวลามีงานออกหน้าออกตาเป็นครั้งคราวไม่ใช่นุ่งพร่ำเพรื่อ ส่วนมากจะนุ่งเวลาไปทำบุญที่วัดใครไม่มีผ้าซิ่นตีนจกนุ่งจะต้องอายเพื่อนฝูงเพราะส่อแสดงว่าตนเป็นคนเกียจคร้าน ไม่เอาการเอางาน แม้แต่บรรดาหนุ่มๆก็ไม่สนใจมอง เนื่องด้วยการทอผ้าซิ่นตีนจกนี้ต้องใช้ความเพียรพยายามและความละเอียดลออมาก ทั้งต้องใช้เวลาทอนานมาก ดังนั้นผ้าซิ่นตีนจกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นุ่งว่า เป็นคนขยันหมั่นเพียรผู้ที่ได้ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกแล้วทำให้มีความรู้ความสามารถที่จะทอผ้าอื่นๆ ได้มีความเป็นสาวโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะแต่งงานมีเย้ามีเรือนได้และจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีด้วย

ลายของผ้าตีนจก 
ผ้าซิ่นตีนจกของชาวบ้านหาดเสี้ยว มีด้วยกันทั้งหมด 9 ลายหลัก คือ
1.ลายเครือน้อย หมายถึง มีเครื่องประดับตัวลายหลักน้อยและเป็นลายง่ายๆ ลายนี้สามารถให้เด็กฝึกหัดทำตั้งแต่ อายุ 13-14 ปีในโบราณกาลลายเครือน้อยนี้จะต้องต่อกับซิ่นมุก
2.ลายเครือกลาง หมายถึง ลายหลักที่มีความเหมือนกับลายเครือน้อยเพียงแต่มีความยากในการจกลายเพิ่มขึ้นต้องต่อกับซิ่นเข็น
3.ลายเครือใหญ่ หมายถึง ลายหลักที่มีดอกไม้อยู่ตรงกลางเครือซึ่ง 2 ลายแรกนั้นไม่มี และจะต้องต่อกับซิ่นมุก
4.ลายมนสิบหก หมายถึง ลายหลักที่มีมุม 16 มุมลายนี้จะเป็นลายที่สวยงามกว่าลายอื่นลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาเติบ
5.ลายสิบสองหน่วยตัด หมายถึง ลายหลักที่มีขอจำนวน 12 ขอ ประกอบกันเป็นดอกมีขาพันทำเป็นสามเหลี่ยมและยังมีนกคาบหรือหงส์ตัวเล็กอยู่ด้วย ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาหว้า
6.ลายน้ำอ่าง หมายถึง ลายหลักที่มีนกหงส์ 2 ตัว คาบดอกไม้ร่วมกันคล้ายกันกับว่าหงส์ 2 ตัวนี้คาบดอกไม้ในอ่างน้ำนั่นเอง ลายนี้สตรีชาวพวนหาดเสี้ยวนิยมทอใส่กันมากที่สุดเนื่องจากเป็นลายที่มีความสะดุดตา และลายนี้จะต้องต่อกับซิ่นเข็น
7.ลายสองท้อง หมายถึง ลายหลักที่มีความแปลกกว่าลายอื่น คือ ครึ่งหนึ่งของลายจะเป็นสีดำอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นสีแดง เวลาทอจะพุ่งสวย 2 สีแต่จะไม่ปล่อยให้กระสวยพุ่งไปจนหมดของซิ่นเมื่อปล่อยสีดำมายังลายที่กำหนดแล้วจึงย้อนกลับ เพราะฉะนั้นสีดำจึงมีเพียงครึ่งเดียวแล้วจึงปล่อยกระสวยด้ายสีแดงมาด้วยวิธีเดียวกัน จึงต้องมีกระสวย 2อัน ในการทอผ้า 1 ผืน ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นน้ำอ่อย
8.ลายแปดขอ หมายถึง ลายที่มีความเหมือนกับลายมนสิบหก แต่ย่อขนาดให้เล็กลงลายนี้ต่อด้วยซิ่นอ้อมแดง
9.ลายสี่ขอ หมายถึง ลายขนาดเล็ก มีเครื่องประกอบกระจุ๋มกระจิ๋มใช้สำหรับต่อผ้าซิ่นให้เด็กหญิงตัวเล็กๆใส่ ลายนี้ต่อด้วยซิ่นตาหว้า
ในลายของผ้าซิ่นตีนจกที่เป็นลายหลักของชาวบ้านหาดเสี้ยวทั้ง9 ลายแล้วยังมีลายเล้กๆที่ประกอบอยู่ภายในลายหลักอีก 6 ลาย คือ
1. ลายนกหมู่
2. ลายนกแถว
3. ลายนกคุ่ม
4. ลายฟันปลา
5. ลายเครือขอ
6. ลายโงะ





การทอผ้าตีนจก
การทอผ้าแบบโบราณของชาวไทยพวนแต่เดิมจะปลูกฝ้าย และนำฝ้ายมาปั่นด้วยมือ เรียกว่า ฝ้ายเข็นและย้อมสีธรรมชาติ ในการทอผ้า สีที่ใช้ในการทอผ้าส่วนมากจะเป็นสีแหล้( สีเข้ม ) ซึ่งปัจจุบัน การเข็นฝ้ายนั้นหาดูได้ยากเพราะส่วนใหญ่จะใช้ฝ้ายจากโรงงาน ทำให้กระบวนการบางอย่างในการทอผ้าค่อยๆหายไปดังนั้น เราเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญา ควรจะอนุรักษ์ไว้ซึ่งกรรมวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมซึ่งขั้นตอนการทอผ้าแบบโบราณ สรุปไว้ 13 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตูนฝ้าย (การตากดอกฝ้าย) คือ การนำปุยฝ้ายจากต้นฝ้ายมาผึ่งแดดโดยใช้เสิง เพื่อให้ปุยฝ้ายแห้งและเลือกเอาขยะออก
ขั้นตอนที่ 2 การอิ๊วฝ้าย คือการนำปุยฝ้ายที่เลือกขยะออกแล้ว มาหีบเอาเมล็ดออกโดยใช้อิ๊ว
ขั้นตอนที่ 3 การยิงฝ้าย คือการนำปุยฝ้ายที่ได้ มาดีดด้วยกงฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายละเอียดกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 4 การล้อมฝ้าย คือ การนำปุยฝ้ายที่ละเอียดแล้วมาล้อเป็นแท่งกลมยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรฝ้ายกลมแท่งนี้เรียกว่า ล้อมฝ้าย
ขั้นตอนที่ 5 การเข็นฝ้าย คือการนำล้อมฝ้ายมาเข็น เพื่อให้เป็นเส้นด้าย ด้วยหลา
ขั้นตอนที่ 6 การเปียฝ้าย คือการนำฝ้ายที่เข็นแล้วออกจากหลา ด้วยเปีย เพื่อทำฝ้ายให้เป็นกำ หรือ ใจ
ขั้นตอนที่ 7 การเฮ้าน้ำข้าวฝ้าย ( การลงน้ำข้าว ) คือ การนำฝ้ายที่เป็นกำหรือ ใจ ไปย้อมสี ก่อนนำไปลงน้ำข้าว ( น้ำที่รินจากหม้อหุงข้าว ) เพื่อให้เส้นฝ้ายเหนียวไม่ขาดง่าย
ขั้นตอนที่ 8 การตากฝ้าย คือ การนำฝ้ายที่ลงน้ำข้าวแล้วมาทำความสะอาดโดยใช้ไม้ตีผงข้าวสุกออก ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง
ขั้นตอนที่ 9 การกวักฝ้าย คือการนำฝ้ายที่แห้งแล้วมากวัก เพื่อจัดเรียงเส้นฝ้ายใหม่ให้ยาวติดต่อกัน
ขั้นตอนที่ 10 การค้นหูก คือการนำฝ้ายที่กวักแล้วไปค้นเป็นเครือ ด้วย เผือ เรียกว่าเครือหูก
ขั้นตอนที่ 11 การสืบหูก คือการนำเครือหูกมาสืบต่อใส่ฟืม เพื่อต่อฝ้ายยืน
ขั้นตอนที่ 12 การฮ้างหูก ( การแต่งเครือหูก )คือ การนำเครือหูกที่สืบต่อฝ้ายยืนแล้วมาขึงในกี่ เพื่อเตรียมทอขั้นตอนที่ 13 การปั่นหลอด คือการกรอด้ายใส่ไม้ก้อหลอด เรียกว่า กรอหลอดด้ายแล้วนำมาใส่กระสวย เพื่อเตรียมทอ เมื่อครบทั้ง13 ขั้นตอนแล้วก็สามารถทอผ้าได้ ซึ่งการทอผ้าตีนจก จะต้องใช้ขนเม่นในการจก การทอผ้ายกดอก ต้องมีการเก็บลายก่อน และขณะทอ จะใช้ไม้แป้นขิดยกตามลวดลาย เพื่อสอดด้ายพุ่ง ให้เกิดลวดลาย เป็นต้น ผ้าซิ่นตีนจกไทยพวนมีลักษณะที่แตกต่างจากผ้าตีนจกของที่อื่นๆคือ การใช้ขนเม่นในการจกฝ้ายจากด้านล่างขึ้นด้านบนบนเส้นยืน ให้เป็นไปตามลวดลายโดยมิได้มีการเก็บลวดลายไว้ล่วงหน้า ผู้ทอผ้าตีนจกจะต้องใช้ความชำนาญในการจดจำลวดลาย เพื่อให้การทอผ้าเป็นไปด้วยความรวดเร็วและการทอผ้าแต่ละแถว จะต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะเพราะต้องนับเส้นด้ายแต่ละเส้น เพื่อใส่ด้ายสีในการจกเข้าไปโดยใช้ขนเม่นในการสอดด้ายสีนั้นๆ ระยะเวลาในการทอผ้าตีนจกจึงต้องใช้เวลานานกว่าผ้าประเภทอื่นๆ แต่เมื่อแล้วเสร็จ ผ้าตีนจกจะเป็นผ้าที่มีความงดงาม ประณีต กว่าผ้าผืนใดๆ ของชาวไทยพวน