วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

การละเล่นนางกวัก งานบุญกำฟ้า


“ นางกวักเอย นางกวักเจ้าแม่กวัก อีพ่อหยักแหย่ อีแม่แหย่หย่อ ก้นหยุกก้นหยอมาสูงเอียงข้าง เจ้าอวดอ้างต่ำหุ เดือนหงาย ตกดิน ตกทราย เดือนแจ้ง เจ้าแม่แอ้งแม่ง จากฟ้าลงมา นางสีดาแก่งแหน ต้อนแต้น ต้อนแต้น .... ”
เสียงเพลงอัญเชิญดวงวิญญาณในการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า “ การเล่นนางกวัก ” ยังคงก้องกังวาน ในยามค่ำคืน ของวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เสมอ การเล่นนางกวัก เป็นการละเล่นที่นำกวัก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ในการทอผ้า มาตกแต่ง ใส่หัว ที่นำมาจากกะลามะพร้าว แล้วเขียนคิ้ว ทาปากให้สวยงาม แล้วอัญเชิญดวงวิญญาณ ของบรรพบุรุษ มาเข้าสิงสถิต เพื่อทำการ เสี่ยงทาย ซึ่งอาจจะเสี่ยงทาย ในเรื่องของคู่รัก การทำงาน หรือโชคชะตาชีวิต
        ในสมัยก่อน ตอนค่อนแจ้ง กะพอแสงเงินแสงทอง จับขอบฟ้า ลูกหลาน จะเตรียมหาบซ้าแฮ ( ตะกร้าใส่อาหารคาวหวาน ) ไปถวายพระที่วัด ครั้นพอพระสงฆ์ ฉันอาหารเสร็จ อาหารคาวหวานและข้าวจี่ที่เหลือ จะแบ่งปันกันกิน ( ข้าวจี่ หมายถึง ข้าวเหนียวนึ่ง ที่ปั้นเป็นก้อนกลมๆ รีๆ เหมือนผลมะตูม หรือฟองไข่เป็ด แล้วนำไม้ไผ่ ที่เหลายาว ประมาณศอกเศษ เสียบทะลุตรงกลาง นำไปปิ้งไฟให้ข้าวเหนียวสุก อาจจะนำเกลือป่นโรยสักนิดก็ได้ )



ทำพีธีขอขมาเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขา ขอใช้สถานที่ในการละเล่น

แต่งตัวแม่กวัก

ต้องแน่นหนา

อุปกรณ์สำหรับแต่งตัวแม่กวัก


ยังไม่แน่นพอ

ทาแป้งแม่กวัก

เขียนปาก


ทำการร้องเพลงเชิญ

เมื่อเข้าแล้วให้เด็กได้ลองพิสูจน์ว่าแม่นางกวักนั้นแรงดีหรือไม่ 

เปลียนคนจับบ้าง แต่ต้องมีคนที่เป็นร่างหนึ่งคน คอยจับไว้

ครูขอบ้าง

ลองแล้วหนักจริง แรงมากๆ

เด็กๆสนใจมาก

ก่อนจะเชิญออก

ในงานบุญนางกวักนั้นต้องมีการทำอาหารแจกด้วย คือข้าวโค้ง แป้งจี่

แม่ใหญ่ตำแป้ง

แแจกเด็กๆ

ข้าวโค้ง ข้าโถเถ ขนมพื้นบ้านชาวไทยพวน


 ข้าวโค้ง ข้าโถเถ ขนมพื้นบ้านชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

หลักสูตรท้องถิ่น การทำขนมพื้นบ้าน ชาวไทยพวน อันได้แก่ ข้าวโค้ง ข้าวโถเถ

นับวันขนมพื้นบ้านเยาวชนแถบจะไม่รู้จักและหลงลืมกันไป ถึงแม้กรรมวิธีจะไม่ได้ยากมากนัก แต่หากไม่มีใครสืบไว้ก็มีแต่จะสูญหาย

ข้าวโค้ง

ข้าวโค้ง เป็นขนมมีรสชาติหวานมัน ออกเค็มบ้างก็ได้ถ้าใส่เกลือ ชาวไทยพวนแต่ละบ้านนิยมทำกันในงานบุญต่างๆ เช่นงานบุญกำฟ้า บุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา แล้วแต่โอกาส

กรรมวิธีนั้นแสนง่าย ประกอบด้วย แป้งข้าวเหนียว มัน หรือ กล้วย มันจะอร่อยกว่า น้ำตาล มะพร้าวขูด เกลือเล็กน้อย น้ำมัน ไม่มีสูตรตวงที่แน่นอน มักใช้ความรู้สึกของผู้ตำสาก และผู้นวดแป้ง ใช้ทักษะความชำนาญในการทำ

กรรมวิธี แรก นึ่งมันให้นิ่ม นำมาตำในครกไม้จนได้ที่ใส่แป้งลงไปตำผสมกัน ใส่มะพร้าวและน้ำตาล น้ำในมะพร้าวขูดจะออกมาทำให้นิ่มและเหนียว เมื่อตำจนส่วนผสมเข้ากันแล้ว นำเอามานวดจนเนื้อแป้งและมันเข้ากันเป็นเนื้อเดียวเกิดความยืดหยุ่นดีสามารถปั่นได้ นำมาปั้นเป็นวงๆ ลงทอดในน้ำมันที่กำลังเดือดพอดี ไฟไม่แรงมาก ทอดพอเหลือง สะเด็จน้ำมัน

ข้าวโถเถ
ข้าวโถเถเป็นขนมคาว ทานกับน้ำยาขนมจีน กรรมวิธีแต่โบราณคือนำเอาแป้งขนมจีนมาตำนวดกับแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อย แล้วนำมาปั้มเป็นวงกลมตีให้แบนแล้วเอาไปปิ้งไฟอ่อนๆ ทานกับน้ำยาขนมจีน ปัจจุบันนำมาทอดในไฟไม่แรงมาก เมื่อพองตัวก็ทานได้รสชาติดี

ทีมงานปั่นข้าวโค้ง ข้าวโถเถ นักเรียน ป 5 

 สนุกสนาน แย่งกันใหญ่ ยังมีอีกเยอะลูกๆ

 คุณแม่ของเราเอง กำลังตำแป้งกับมันทำข้าวโค้ง

 สีออกเหลืองอ่อน มันกับแป้งข้าวเหนียว

ตำๆ

 
เห็นกองแป้งแล้วมือหงิกแน่ๆ

ยังอีกเยอะเด็กๆช่วยกัน

 
เริ่มการทอด


น้ำมันกระจาย

ไหม้แล้วๆ

คนละไม้ละมือ บูดๆเบี้ยวๆ

ถาดนี้ดูดี

ทอดๆกันนะจ๊ะเด็กๆ

สีน้ำตาลอ่อนคือกล้วย สีเหลืองคือมัน มันอร่อยกว่าเยอะเลยครับ

ชิมๆหน่อยนะจีะ

 
ทอดต่อไป

แป้งสำหรับทำข้าวโถเถ แบนๆแบบนี้ ทีมงานแม่ใหญ่

 ข้าวโถเถ

ทอดแล้วพองๆน่ากิน


งานนี้ขอบคุณความกรุณาจากแม่ใหญ่ทุกท่านที่มาสาธิตและสอนการทำให้เด็กๆ แม่ใหญ่ไทยพวนบ้านหาดสูง

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การแต่งกายแบบล้านนา


 เจ้าดารารัศมี กับซิ่นลุนตยาแบบราชสำนักพม่า ต่อตีนซิ่นด้วยซิ่นแบบล้านนา

การแต่งกายตามแบบประเพณีล้านนาที่ถูกต้อง

การแต่งกายเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของคนแต่ละพื้นถิ่น สำหรับในเขตภาคเหนือหรือดินแดนล้านนาในอดีต ปัจจุบันการแต่งกายแบบพื้นเมืองได้รับความสนใจมากขึ้น แต่เนื่องจากในท้องถิ่นนี้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ และอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ ทำให้การแต่งกายแบบพื้นเมืองมีความสับสนเกิดขึ้น ดังนั้นคณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ จึงได้ระบุข้อไม่ควรกระทำในการแต่งกายชุดพื้นเมือง ของ “แม่ญิงล้านนา” เอาไว้ว่า
          1.ไม่ควรใช้ผ้าโพกศีรษะ ในกรณีที่ไม่ใช่ชุดแบบไทลื้อ
          2. ไม่ควรเสียบดอกไม้ไหวจนเต็มศีรษะ
          3. ไม่ควรใช้ผ้าพาดบ่าลากหางยาว หรือคาดเข็มขัดทับ และผ้าพาดที่ประยุกต์มาจาก ผ้าตีนซิ่นและผ้า “ตุง” ไม่ควรนำมาพาด
          4. ตัวซิ่นลายทางตั้งเป็นซิ่นแบบลาว ไม่ควรนำมาต่อกับตีนจกไทยวน
          ดังนั้น จึงอาจสรุปลักษณะการแต่งกายของแม่ญิงล้านนาอย่างคร่าวๆได้ ดังนี้


เจ้าดารารัศมีทรงในชุดของชาวกะเหรียงเมื่อครั้งเสด็จไปหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง

การเกล้าผมและเครื่องประดับศีรษะ
          1. การเกล้าผม  การเกล้ามวยผมของหญิงชาวล้านนามีหลายแบบ เช่น เจ้านายไทเขินจะเกล้ามวยไว้กลางหัว ไทใหญ่มวยอยู่ กลางหัวแต่จะเอียงมาทางซ้าย เพื่อให้ปลายผมทิ้งชายยาวห้อยลงมา ส่วนการเกล้าผมอย่างคนไทยวน มีชื่อเรียกขานต่างๆ กัน ดังนี้
          ‘เกล้าวิดว้อง’ เป็นการเกล้าผมทรงสูงแล้วดึงปอยผมขึ้นมาเป็นว้องหรือเป็นห่วงอยู่กลางมวย
          ‘เกล้าผมบ่มจ๊อง หรือ ผมอั่วจ๊อง’ คือ การเอาผมปลอมปอยหนึ่ง (จ๊อง-ช้อง) ใส่เข้าไปในมวยผมเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
          ‘เกล้าผมแบบอี่ปุ่น หรือ เกล้าแบบสตรีญี่ปุ่น’ เป็นทรงผมที่นิยมมากในสมัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

2. เครื่องประดับศีรษะและการตกแต่งมวยผม  ‘ปิ่นปักผม’ ชาวยองเรียกปิ่นว่า หมาดโห ส่วนลาวล้านช้างเรียกว่า หมั้นเกล้า การใช้ปิ่นปักผมมีประโยชน์ทั้งใช้เพื่อขัดผมให้อยู่ทรง หรือใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามให้มวยผม วัสดุที่นำมาทำปิ่นก็มีแตกต่างกันไป เช่น ปิ่นเงิน ปิ่นทองคำ ปิ่นทองเหลือง ปิ่นที่ทำจากเขา-กระดูกสัตว์
           ลักษณะของปิ่นปักผม มีหลายรูปแบบต่างกันออกไป เช่น ปิ่นทองเหลืองลักษณะโบราณที่แม่แจ่ม ทำเป็นช่อชั้นคล้ายเจดีย์ ซึ่งปิ่นโบราณที่พบในล้านนาก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ส่วนยอดปิ่นอาจประดับด้วยอัญมณีอย่างทับทิมหรือหินสีก็ได้ นอกจากนี้ยัง มีปิ่นที่ทำเป็นรูปร่ม ได้แก่ ปิ่นจ้องของชาวไทลื้อ หรือไทเขินในเชียงตุง 
          ‘ดอกไม้ไหว’ เมื่อยามจะไปวัดทำบุญหญิงชาวล้านนามักจะเหน็บดอก ไม้ไว้ที่มวยผม ดังมีคำกล่าวว่า ‘เหน็บดอกไม้เพื่อบูชาหัว และเพื่อก้มหัวบูชาพระเจ้า’ โดยดอกไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาประดับเวลาไปวัดนั้น มักเป็นดอกไม้หอมสีสุภาพ เช่น ดอกเก็ดถะหวา (ดอกพุดซ้อน) ดอกจำปา-จำปี เป็นต้น ส่วนดอกไม้ที่นำมาประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามนั้น มักนิยมใช้ดอกเอื้องผึ้ง ซึ่งต่อมาได้มีการ ประดิษฐ์ดอกเอื้องด้วยทองคำ เงิน ทองเหลือง เรียกว่า เอื้องเงินเอื้องคำ นอกจากนั้นก็ยังมีดอกเอื้องที่ทำจากกระดาษอีกด้วย

          ‘หวีสับ’ หวีสับที่นำมาประดับผมมีทั้งหวีงา หวีทอง หวีเงิน หวีเขาสัตว์ หรือปัจจุบันมักเห็นเป็นหวีพลาสติก ซึ่งพบได้มากในหญิง ชาวไทลื้อสิบสองพันนา ที่มักจะใช้หวีสับสีสันสดใสเป็นเครื่องประดับมวยผม ส่วนหวีที่ทำจากทองคำ เงิน หรือ หวีที่ทำจากงาช้าง มักจะเป็นหวีของชาวไทใหญ่
          ‘โพกหัว เคียนผ้า’ มักพบการโพกหัวในชีวิตประจำวันของ คนเฒ่าคนแก่ชาวยองในลำพูน หรือชาวไทลื้อในสิบสองพันนา ที่ต่างก็โพกผ้าขาวเป็นปกติเวลาไปวัดเพื่อความเรียบร้อย อีกทั้งยังช่วยกันแดดและกันฝุ่นผงที่จะมาเกาะผมที่ชโลมน้ำมันมะพร้าวไว้
           นอกจากนั้นการโพกผ้ายังสามารถเป็นตัวบ่งชี้สถานภาพของผู้หญิงอีกด้วย เช่น หญิงไทลื้อในเมืองอู ถ้ายังไม่ออกเรือนจะ โพกหัวด้วยผ้าสีชมพู แต่ถ้าออกเรือนแล้ว จะโพกผ้าสีอะไรก็ได้

ราชสำนักสยามหลักได้รับอิทธิพลการไว้ผมยาวแบบสตรีล้านนาของเจ้าดารารัศมี


เครื่องประดับร่างกาย
          1. ตุ้มหู    การเจาะหูนั้นภาษาล้านนา เรียกว่า บ่องหู ชาวไทใหญ่ เรียกว่า ปี่หู ส่วนตุ้มหูของชาวไทยวนมีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น
          ‘ด็อกหู’ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นคำๆ เดียวกับ ‘ดอกหู’ ซึ่งอาจหมายถึงการเอาดอกไม้มาเสียบไว้ที่ติ่งหูก็เป็นได้ จะมีลักษณะ เป็นตุ่มกลมๆ
          ‘ลานหู’ มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เพื่อให้รูที่เจาะไว้ขยายกว้างออก เรียกว่า ‘ควากหู’
          นอกจากนั้นยังมีคำต่างๆ ที่ใช้เรียกตุ้มหูอีกหลายคำ เช่น ท่อต๊าง ท่อต๊างลานหู หน้าต้าง หละกั๊ด เป็นต้น
 
          2. สร้อย    ‘สร้อยคอ’ หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า ‘สายคอ’ แต่เดิมการใส่สร้อยคอของหญิงล้านนาอาจจะไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากพิจารณา ดูจากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ไม่ปรากฏว่ามีรูปผู้หญิงใส่สร้อยคอ แต่จะมีการใส่สร้อยสังวาลปรากฏอยู่แทน ดังนั้นการ ใส่สร้อยคอน่าจะเพิ่งได้รับความนิยมในสมัยหลังมานี้
          ‘จี้คอกับสร้อยอุบะ’ จี้คอเป็นเครื่องประดับที่ใช้คู่กับสร้อยคอ โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคน ส่วนสร้อยอุบะจะมีลักษณะกลมกลืนกันระหว่างส่วนที่เป็นสร้อยกับอุบะ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลาง
          ‘ล็อกเกต เข็มกลัด’ ล็อกเกตจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘จี้’ แต่จะเปิดออกได้ โดยข้างในมักนิยมใส่รูปบุคคลที่มีความสำคัญ ต่อเจ้าของ แต่บางครั้งล็อกเกตนี้ก็สามารถดัดแปลงเป็นเข็มกลัดได้ด้วย
          ‘สร้อยสังวาล’ ผู้รู้ทางด้านการแต่งกายแบบล้านนาได้กล่าวไว้ว่า สร้อยสังวาลนี้น่าจะเป็นเครื่องทรงของเจ้านายฝ่ายหญิง มากกว่าจะเป็นของหญิงสามัญชน จำนวนเส้นของสร้อยสังวาลยังบอกถึงฐานะทางสังคมอีกด้วย แต่โดยปกติจะใส่พาดทับผ้าสไบเพียง เส้นเดียว


         3. กระดุม  ภาษาพื้นเมืองเรียก ‘บ่าต่อม’ น่าจะใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเมื่อสังเกตจากภาพจิตร กรรมฝาผนังในล้านนา ก็จะเห็นแต่ผู้ชายที่ใส่เสื้อแบบฝรั่งเท่านั้นที่ติดกระดุม กระดุมมีหลายประเภทและใช้วัสดุแตกต่างกันไป เช่น ลักษณะกระดุมที่เป็นเชือกถักขอดเป็นปม น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจีน ส่วนเสื้อของไทใหญ่ไทลื้อจะเป็นกระดุมห่วงที่สามารถถอดไป ใช้กับเสื้อตัวอื่นได้ โดยกระดุมเหล่านี้มีทั้งทำมาจากทองคำ นาก เงิน อัญมณี แก้ว เป็นต้น

          4. เข็มขัด  ภาษาล้านนาเรียกว่า ‘สายฮั้งบอกแอว’ ส่วนชาวจังหวัดน่านเรียกว่า ‘แบ้ว’ สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ‘BELT’ ส่วนชาวลำปางเรียกว่า ‘ต้าย’ เป็นทั้งเครื่องใช้และของประดับ ควบคู่ไปกับผ้าซิ่นและเตี่ยวสะดอ แต่ถ้าสังเกตจากภาพ จิตรกรรมฝาผนัง ภาพของทั้งบุรุษและสตรีล้วนแต่ไม่ใช้เข็มขัด แต่จะใช้วิธีทบและขมวดปมผ้าซิ่นหรือกางเกงแทน


          5. กำไล  ภาษาล้านนาเรียกกำไลว่า ‘ขอแขน ว้องแขน ขะแป่ง’ ชาวไทลื้อเชียงคำ เรียกกำไลว่า ‘กอกไม้’ ส่วนชาวไทใหญ่ เรียกว่า ‘แหวนมือ’ โดยลักษณะของกำไลนั้นมีหลายแบบ เช่น กำไลวง คือ กำไลที่มีลักษณะเป็นวงกลมธรรมดา กำไลเกลียว มีลักษณะเป็นเกลียวเดียวหรือหลายเกลียวเรียงกัน ส่วนกำไลข้อเท้า จะเรียกว่า ‘ขอแฅ่ง หรือ ว้องแฅ่ง’

          6. แหวน  ภาษาไทลื้อเรียกว่า ‘จอบมือ’ ภาษาไทใหญ่เรียกว่า ‘มงกวย’ ทางภาคเหนือมีแหวนช่อ (จ้อ) ลักษณะเป็นช่อเป็นชั้น ความสำคัญของแหวนล้านนา น่าจะอยู่ที่หัวแหวนเป็นสำคัญ คือ แก้วหรืออัญมณีที่ใช้ประดับแหวน แก้ววิเศษที่ถือว่าเป็นของมงคล ในการนำมาทำเป็นหัวแหวน เช่น แก้ววิทูรย์ แก้วผักตบ แก้วบัวรกต แก้วมหานิลไชยโชค แก้วมหานิลซายคำ เป็นต้น


 เจ้าดารารัศมีทรงปล่อยปรอยผมที่ยาวตามแบบประเพณีสตรีล้านนา

ผ้าซิ่น
          ผ้าซิ่นที่แม่ญิงชาวล้านนานิยมนุ่ง มีแบบที่ตัดสำเร็จ และแบบที่เป็นผืน เรียก ‘ซิ่นต่วง’ หรือ ‘ซิ่นบ้วง’ ปัญหาของการนุ่งซิ่น คือ การนุ่งซิ่นกลับหัว มักจะเกิดกับซิ่นลาว ซิ่นไทลื้อ เพราะ ซิ่นลาวมักมีลวดลายซับซ้อน ส่วนซิ่นไทลื้อจะมีผ้าสีห้อมเป็นเชิง ในส่วนที่ เป็นลายจะพาดอยู่ตรงสะโพก

          ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม  เมืองแม่แจ่มได้รับการกล่าวถึงความประณีตในศิลปะแห่งการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าซิ่นที่เป็นของเก่าจะมีลวดลายแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ที่สนใจซื้อหาไปสะสม เมื่อซิ่นแม่แจ่มเริ่มมีชื่อเสียง การทอผ้าซิ่น แบบใหม่จึงได้เริ่มขึ้น แต่เนื่องจากลวดลายแบบเก่านั้นทำยาก ซิ่นแม่แจ่มในปัจจุบันจึงเป็นลวดลายแบบใหม่ ผ้าฝ้ายที่ใช้ก็มัก เป็นผ้าฝ้ายเกลียวจากโรงงาน มากกว่าที่จะใช้ผ้าฝ้ายจากธรรมชาติ


           ซิ่นก่านซิ่นต๋า  ซิ่นต๋า ซิ่นก่าน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ซิ่นต่อตีนต่อแอว (แอว-เอว) “ต๋า” คือ ลายเส้นพาดขวางกับลำตัว “ก่าน” คือ ลายพาด “ต่อตีนต่อแอว” คือ การเอาผ้าซิ่นอีกชิ้นต่อตรงหัวซิ่น และอีกชิ้นหนึ่งต่อเป็นตีนซิ่น ดังนั้น ซิ่น 1 ผืน จึงประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ในส่วนที่เป็น “ต๋า หรือ ก่าน” จะมีชื่อเรียกเฉพาะที่ต่างกันออกไป เช่น
          ซิ่นต๋าผุด คือ ซิ่นที่มีลวดลายในตัวแต่มองเห็นได้ไม่ชัดนัก
          ต๋าแลว คือ ลวดลายที่มีเส้นพาดเส้นเดียว 
          สองแลว คือ ลวดลายที่มีเส้นพาด 2 เส้น เป็นต้น
          ซิ่นก่านซิ่นต๋า หรือ ซิ่นต่อตีนต่อแอวนี้ เป็นซิ่นแบบโบราณของชาวไทยวน ที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัจจุบันมักพบเป็น “ซิ่นก่าน ทอลวด” คือ เป็นซิ่นที่ทอทั้ง 3 ส่วน ติดต่อกันเป็นผืนเดียว

          ซิ่นไหมสันกำแพง เส้นไหมของสันกำแพงเป็นไหมที่เส้นเล็ก อ่อนพลิ้ว เงางาม ซิ่นต๋าหรือซิ่นก่านไหม มีแหล่งผลิตหลักอยู่ที่ สันกำแพง แต่ในส่วนลายพาดขวางที่เรียกว่า สองแลว สามแลว นั้น ทางสันกำแพงได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมาใหม่ โดยขยาย แถบให้กว้างขึ้น แล้วไล่ระดับเล็กใหญ่เรียงกันไป และค่อนข้างมีสีสันฉูดฉาด เช่น สีบานเย็น เหลือง เขียว ม่วง เป็นต้น

          ซิ่นน้ำถ้วม เป็นซิ่นของกลุ่มไทยวนในเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง มีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณทะเลสาบดอยเต่า ในอดีตบริเวณนี้ เป็นชุมชนโบราณ มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน แต่ประวัติศาสตร์ทั้งมวล รวมทั้งศิลปะการทอผ้า ได้ล่มสลายลงไปอยู่ใต้น้ำ เมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ดังนั้นผ้าซิ่นของชาวบ้านกลุ่มนี้ จึงได้ชื่อว่า ‘ซิ่นน้ำถ้วม’ ซิ่นน้ำถ้วมนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ตัวซิ่นประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ตีนจก ตัวซิ่น และหัวซิ่น ซิ่นแบบเก่ามักทอลายห่าง ซึ่งเป็นแบบอย่างของตีนจกโบราณของทุกพื้นที่ ก่อนจะเพิ่มลายเพิ่มฝ้ายให้หนาขึ้นในภายหลัง และจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนวิถีชีวิตในการดำรงชีพของชาวบ้านกลุ่มนี้ ซิ่นน้ำถ้วมในปัจจุบัน อาจจะขาดคนสืบต่อการทอซิ่นชนิดนี้ไปแล้ว

          ซิ่นไหมยกดอกลำพูน ซิ่นไหมยกดอกลำพูนมิใช่เป็นซิ่นที่มีมาแต่เดิม ผ้าไหมยกดอกเป็นผ้าไหมที่มีราคาสูง ทอขึ้นสำหรับเจ้า นายหรือตัดเป็นชุดเจ้าสาว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงสนับสนุนให้มีการทอผ้า ไหมยกดอกขึ้น ส่วนลวดลายนั้นได้รับอิทธิพลมาจากผ้าทอทางภาคกลาง ประสานกับลายผ้าทอทางเหนือ จึงเกิดเป็นลายซิ่นยก ดอกลำพูนขึ้น

         ซิ่นพม่า มีชื่อเรียกขานมากมาย เช่น ซิ่นลุนตยา ซิ่นเช็ก ซิ่นอินเล ซิ่นซิมเหม่ ซิ่นยะไข่ ฯลฯ ซึ่งซิ่นแต่ละแบบก็มีลักษณะ แตกต่างกันไป เช่น ซิ่นลุนตยา อฉิก มีลาดลายคล้ายคลื่นพาดขวาง มีผ้าต่อตีนซิ่นเป็นหางยาวๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบแซมด้วยดิ้นเงิน ทอง หรือเป็นซิ่นแบบธรรมดา ปัจจุบันพบว่ามีผ้าพิมพ์ลายลุนตยาวางขายอยู่มากมาย ซิ่นเช็ก มีลวดลายคล้ายซิ่นลุนตยา แต่เป็นไหมทอเครื่อง เป็นต้น

ซิ่นลุนตยาราชสำนักพม่า
         ซิ่นไทลื้อ ซิ่นไทลื้อมักมีลวดลายเป็นดวงบริเวณสะโพก ซึ่งที่มาของลวดลายนี้มีกล่าวถึงในตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนาไว้ว่า “กาลครั้งหนึ่ง มีเทวบุตรลงมาเกิด ในเมืองมนุษย์เป็นหมาควายหลวง (ในตำนานคำว่า ‘ควาย’ นั้น ไม่มีสระอา) และได้ฆ่าชายชาวเมืองเชียงรุ่งจนหมด และได้ผู้หญิงในเมืองเป็นเมีย ต่อมามีมานพ หนุ่มกล้าหาญ ได้พลัดหลงเข้ามาในเมืองและได้ฆ่าหมาควายหลวงตาย ฝ่ายหญิงทั้งหลายต่างก็ร้องไห้และใช้มือตะกุยตะกายซากศพจนเปื้อนเลือด และได้เอามือ ที่เปื้อนเลือดมาเช็ดผ้าซิ่นตรงสะโพก ตั้งแต่นั้นมาซิ่นไทลื้อจึงมีลวดลายสีแดง เป็นจุดเด่นตรงสะโพก และเรียกลายซิ่นดังกล่าวว่า ‘ซิ่นตาหมาควาย(หลวง)’ ”ปัจจุบันหญิงชาวไทลื้อในสิบสองปันนาที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งกายแบบไทลื้อดั้งเดิม แต่สำหรับหญิงสาวมักจะนิยมนุ่งซิ่นที่เป็นผ้าทอจากโรงงานซึ่งมีสีสัน สดใสมากกว่าการนุ่งซิ่นแบบเดิม

ซิ่นไหมคำราชสำนักเชียงตุง


การแต่งกายของชาวไทยวน ผู้มีฐานะ สังเกตุจากเครื่องแต่งกาย


การแต่งกายของชาวบ้านล้านนาแต่โบราณ





การแต่งกายปัจจุบันของคนแก่ยังคงนุ่งซิ่นมวยผมห่มผ้าอยู่

เครื่องนุ่งห่มชาย
เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ชายชาวล้านนาโดยเฉพาะเชียงใหม่นิยมการสักขาลาย ซึ่งสับขายาว จะเป็นการสักตั้งแต่เอวลงมาเสมอเข่าหรือต่ำกว่าเข่าเล็กน้อย ส่วนสับขาก้อม จะเป็นการสักในช่วงเอวถึงกลางขาการสับหมึกคือการสักยันต์ด้วยหมึกดำ กล่าวกันว่าหญิงสาวจะเมินชายหนุ่ม ที่ปล่อยสะโพกขาว เพราะถือว่าเป็นคนขี้ขลาด 

ผ้านุ่งของชายเป็นผ้าพื้นซึ่งเป็นผ้าฝ้ายทอมือ เรียกว่า ผ้าตาโก้ง คือผ้าลายดำสลับขาวซึ่งมีวิธีนุ่งสามแบบ คือ

๑. การนุ่งแบบปกติจะจับรวบตรงเอวแล้วเหน็บตรงกึ่งกลาง มีบางส่วนเหลือปล่อยห้อยลงมาจากเอว

๒. อีกวิธีหนึ่งจับรวบเหน็บตรงเอว ส่วนชายอีกด้านหนึ่งดึงไปเหน็บไว้ด้านหลังคล้ายกับนุ่งโจงกระเบน เรียกว่า นุ่งผ้าต้อย

๓. เป็นการนุ่งผ้าที่มุ่งความกระชับรัดกุมจนมองเห็นสะโพกทั้งสองข้างเผยให้เห็น รอยสักได้ชัดเจนเรียกว่า เฅว็ดม่าม หรือ เฅ็ดม่าม ในเมื่อต้องการความกระฉับกระเฉงสะดวกในการต่อสู้ ทำงาน ขุดดิน ทำไร่ ทำนา ขี่ควายในการนุ่งผ้าทั้ง ๓ แบบนี้ ส่วนบนจะเปลือยอก ส่วนเตี่ยว หรือ กางเกงที่ใช้นุ่งนั้นมีรูปแบบคล้ายกับกางเกงจีนคือตัวโต เป้าหลวม เมื่อตัดเย็บจะเห็นว่ามีแนวตะเข็บถึงห้าแนว จึงเรียกว่าเตี่ยวห้าดูก เตี่ยวนี้จะมีทั้งขาสั้น (ครึ่งหน้าแข้ง) ที่เรียกเตี่ยวสะดอ และชนิดขายาวถึงข้อเท้าเรียกว่า เตี่ยวยาว (มักเข้าใจกันว่าเรียกเตี่ยวสะดอทั้งขาสั้นและขายาว) เตี่ยวนี้ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายทอมือ แต่เจ้านายและผู้มีอันจะกินนั้น แม้เสื้อผ้าจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไปก็ตาม แต่ก็มักเลือกสรรวัสดุที่ประณีต มีค่า ทั้งยังมีโอกาสใช้เส้นใยที่ทอจากต่างประเทศอีกด้วย ส่วนกางเกงแบบสมัยใหม่เรียว่า เตี่ยวหลัง ชายชาวเชียงใหม่จะไม่สวมเสื้อ แม้ในยามหนาวก็จะใช้ผ้าทุ้ม (อ่าน”ผ้าตุ๊ม”) ปกคลุมร่างกาย ผ้าทุ้มนี้เป็นที่นิยมใช้ทั้งชายและหญิง สีของผ้าจะย้อมด้วยสีจากพืช เช่น คราม มะเกลือ หรือ แก่นขนุน เป็นต้น สำหรับการสวมเสื้อนั้นมานิยมกันในตอนหลัง 

ซึ่งพบหลักฐานชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมซึ่งมีอยู่ ๒ แบบ
แบบแรก .. เป็นเสื้อคอกลมแขนสั้นหรือแขนยาวผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก มีกระเป๋าปะทั้งสองข้างสีของเสื้อเป็นสีขาวตุ่นของใยฝ้าย มีบ้างที่ย้อมครามที่เรียกว่า หม้อห้อม 

แบบที่สอง .. เป็นเสื้อคอกลมผ่าครึ่งอก ติดกระดุมหอยสองเม็ด มีกระเป๋าหรือไม่มีก็ได้


ประมาณรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชายชาวเชียงใหม่เริ่มนิยมนุ่งกางเกงแพรจีนสีต่างๆหรือแพรปังลิ้น และนิยมสวมเสื้อมิสสะกีที่เป็นเสื้อตัดเย็บจากผ้ามัสลินหรือผ้าป่านซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อคอกลม ผ่าครึ่งอก ติดบ่าต่อมหอยคือกระดุมหอยสองเม็ด ผ่าเฉลียงระหว่างตัวเสื้อกับแขนเพื่อให้ใส่ได้สบาย มีกระเป๋าติดตรงกลางด้านล่าง นอกจากนี้ยังมีเสื้อคอกลมหรือคอแหลมผ่าหน้าตลอดติดกระดุมหอย ใช้วิธีการตัดเย็บเช่นเดียวกับเสื้อมิสสะกี แต่ที่พิเศษออกไปคือมีกระเป๋าทั้งสองข้าง ที่เห็นแปลกออกไปบ้างคือเจ้านายบางท่านอาจนุ่งเตี่ยวโย้ง (กางเกงเป้ายานมาก) สวมกับเสื้อมิสสะกี หรือเสื้อผ้าไหมสีดำตัดคล้ายเสื้อกุยเฮง ในบรรดาเจ้านายแล้ว เสื้อผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษหรือเป็นพิธีการจะนุ่งผ้าไหมโจงกระเบน เสื้อแขนยาวคล้าย “เสื้อพระราชทาน” มีผ้าไหมคาดเอว ต่อมาได้มีการนิยมนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้ายาวสีขาว พร้อมด้วยรองเท้าคัทชูสีดำเช่นเดียวกับทางกรุงเทพฯ














วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ซินไทยวนในศรีสัชนาลัย หมู่บ้านป่างิ้ว วังค่า ภูนก ท่าโพธิ์ และบ้านตึก


 ซิ่นตีนจกบ้านภูนก บ้านตึก 

 ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

 ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

  ซิ่นตีนจกบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์

  ซิ่นตีนจกของอำเภอลอง จังหวัดแพร่

 ซิ่นตีนจกของบ้านชัยจุมพลเมืิองลับแล อุตรดิตถ์

ซิ่นตีนจกของบ้านชัยจุมพล เมืิองลับแล อุตรดิตถ์

ข้อสันนิฐานชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย
           รูปแบบผ้าทอของชาวบ้านป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์ และบ้านภูนก บ้านตึก เอกลักษณ์เดิมเป็นแบบไทยวน เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ ชาวไทยวน ไทโยนก หรือ ชาวล้านนา จากสันนิฐานว่าหมู่บ้านป่างิ้ว มีอาณาเขตใกล้เคียงกับบ้านตึกที่มีอาณาเขตติดต่อกับลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดแพร่ และลวดลายของผ้าตีนจกบ้านป่างงิ้วก็ได้มีความคล้ายครึงกับผ้าตีนจกเมืองลับแลเป็นอย่างมาก แต่ในเมืองลับแลนั้น จกจะเป็นสีแบบเอกรงค์ คือมีสีเด่นเพียงสีเดียวเช่น สีทอง สีเขียว ที่นิยมกันสมัยก่อนที่จะมีการเพิ่มสีสั่นขึ้นมาเป็นพหุรงค์ แต่ในบ้านป่างงิ้วเองก็มีทั้งแบบเอกรงค์ และพหุรงค์ จึงได้ทำการเปรียบเทียบว่า ชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว แม่ราก ท่าด่าน วังค่า ท่าโพธิ์ มีความเป็นมาอย่างไรจากการทอผ้า แต่นั้นก็ยังเป็นแค่สันนิฐานจากข้าพเจ้า ในการสืบรากเหง้าบรรพบุรุษนั้น ชาวบ้านป่างิ้วใช้ภาษาแบบไทกะได หรือใช้ภาษาแบบล้านนา แต่ด้วยรูปแบบทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนบ้านป่างงิ้วมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านหาดเสี้ยวและหาดสูง ซึ่งเป็นชาวไทยพวนที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและประเพณี จึงโดนกลืนวัฒนธรรม การทอผ้าแบบไทยวนตามวิถีเดิมได้ค่อยๆสูญหายไปบ้างเป็นบางส่วน ชาวบ้านนิยมทอผ้าด้วยลายแบบชาวไทยพวนมากขึ้นเพราะมีความนิยม และราคาสูง และความกว้างของตีนน้อยกว่า ลายผ้าทอของชาวบ้านป่างิ้วจึงเรือยหายไปบ้าง 
            จากการเทียบเคียงลายผ้า ข้าพเจ้าได้พยายามเทียบกับลายตีนจกของจังหวัดแพร่ และ อุตรดิตถ์ ปรากฎว่าลวดลายของชาวบ้านป่างิ้ว มีความคล้ายครึงกับลายผ้าของชาวบ้านตึกและเมืองลับแลของอุตรดิตถ์เป็นอย่างมาก จึงคิดว่าชาวบ้านป่างิ้วน่าจะเป็นกลุ่มชาวไทยวนที่อพยพมาจากลับแล บ้านตึกมาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในอดีตชาวเมืองศรีสัชนาลัยมีการก่อตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอด้ง ที่บ้านตึก เมืองด้งในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2441 ก่อนที่จะมีการย้ายมายังบ้านหาดเสี้ยวในปัจจุบันใน ปี พ.ศ. 2458 และในประวัติว่าชาวไทพวนได้อพยพมายังบ้านหาดเสี้ยวจากเชียงขวางประเทศลาวเป็นเวลาประมาน 170 ปี แล้ว แต่ในบันทึกเกี่ยวกับชาวบ้านป่างิ้วหรือหมู่บ้านใกล้เคียงไม่มีอยู่เลย ดังนั้นอาจจะสันนิฐานได้ว่า ชาวไทยวนบ้านป่างิ้วได้อพยพมาอยู่หลังจากชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวเกือบ 100 ปี อาจจะมาพร้อมกับการย้ายที่ว่าการอำเภอจากเมืองด้ง เมื่อที่ทำการราชการย้ายก็อาจจะมีต้องมีการนำคนจากถิ่นฐานเดิมย้ายตามมาด้วย และอาจจะเป็นคนจากบ้านเมืองด้งที่ย้ายมามายังหาดเสี้ยวโดยให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ถัดจากบ้านหาดเสี้ยว 3 กิโลเมตร เป็นบางส่วน หรือ ข้อสันนิฐานอีกด้านหนึงอาจจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนหน้าชาวไทยพวนแล้วก็เป็นได้ เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีวัดเป็นจำนวนสองวัด ที่มีอายุหลายร้อยปี และมีพระพุทธรูปสองพี่น้องสมัยสุโขทัย ณ วัดป่างิ้วในปัจจุบัน ซึ่งอีกวัดหนึ่งได้ร้างไปนานแล้ว ตามคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นที่ว่าหมู่บ้านป่างิ้วมีอายุร่วม 300 ปี และเส้นทางการเดินทางระหว่างป่างิ้ว บ้านทุ่งพล้อ และ บ้านตึก มีอาณาเขตติดต่อกัน โดนในประวัติได้เล่าถึงการอพยพมายังเมืองด้งว่ามีชายคนนึงย้ายถิ่นฐานมายังบ้านตึก ตึกแปลว่า สุด เพราะสุดทางเขาแล้ว และบ้านตึก ทุ่งพล้อ ไล่มาถึงป่างิ้ว มีดอยเขามุ้ง ซึ้งทั้งสามหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่อยู่เชิงดอยเขามุ้งทั้งสิ้น จึงมีความเป็นไปได้อีกประการว่า ชาวบ้านตึก ทุ่งพล้อ ป่างิ้ว วังค่า ท่าโพธิ์ คือกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันที่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาพร้อมกันโดยแยกกระจายออกเป็นส่วนๆเพื่อหาที่ทำมาหากิน โดยที่บ้านป่างิ้วเป็นที่ราบลุ่มน้ำยมจึงทำการปลูกข้าวได้ดีและมีนาเป็นจำนวนมาก โดยในตำนานยังมีการกล่าวถึงเจ้าพ่อหมื่นด้ง  โอรสเจ้าหมื่นโลกสามล้าน เจ้านครลำปาง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 1993 มีนามว่าเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อเจริญชันษาแล้วได้เป็นแม่ทัพของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหมื่นด้ง เจ้าเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 1986 และได้รักษาการเจ้าเมืองเชียงชื่น ระหว่าง ปี พ.ศ. 2003 - 2012 อีกด้วย ในห้วงเวลานี้ คงจะได้มาตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชนาลัย หรือ เชียงชื่น ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณวัดต้นสนโพธาราม คำว่าเมืองด้ง ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ. ๒๔๒๘ ใบบอกเมืองสวรรคโลก จ.ศ. ๑๒๔๗ แสดงว่าเมืองด้งคง จะได้รับการยกฐานะชุมชนบริเวณบ้านตึกขึ้นเป็นเมือง ตำแหน่งเจ้าเมืองมียศเป็นที่พระเมืองด้ง ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองสวรรคโลก ดังนั้น ความคลุ่มเครือทางประวัติศาสตร์ของชาวป่างิ้วจึงยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัด จากคำบอกเล่าและการเทียบเคียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเราดูจากลวดลายของผ้าทอแล้วนั้น อาจจะสันนิฐานได้ว่าชาวบ้านป่างิ้วน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้านตึก และ เมืองลับแล เพราะลวดลายของผ้า ที่เหมือนกัน         
            ดังนั้นข้อสันนิฐานข้าพเจ้าคิดว่ามีมูลมากที่สุดน่าจะเป็นอันนี้ครับคือ หมู่บ้านป่างิ้วเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีชาวไทยวนเข้ามาอาศัยเป็นเวลานานกว่า 500 - 300 ปีแล้ว โดยเป็นคนกลุ่มเดียวกับกับชาวบ้านตึก และ ลับแลของอุตรดิตถ์ โดยตั้งหมู่บ้านบริเวณเชิงดอยเขามุ้ง โดยมีแม่น้ำยมไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ไล่ลัดเลาะไปเรื่อยตามคลองแม่รากถึงบ้านตึกในสุดติดภูเขา โดยมีลวดลายผ้าตีนจกลายเดียวกันเป็นตัวเชือมโยงความสัมพันธ์ โดยกระจายหมู่บ้านไทยวนไปคือ บ้านแม่ราก ท่าด่าน ป่างิ้ว แม่สำ วังค่า ท่าโพธื์ โดยมีชาวไทพวนเพิ่งอพยพมาอยู่ได้ประมาน 180 ปี โดยมีหมู่บ้านอยู่ติดกันคือ บ้านหาดเสี้ยวและหาดสูง ประกอบกับเคยเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยมีเจ้าหมื่นด้งนคร หรือเจ้าพ่อเมืองด้ง มาดูแลยังหมู่บ้านบ้านตึกเป็นจุดตั้ง เมื่อ 500 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สุโขทัยอ่อนแอ จึงอาจจะเป็นการที่เจ้าหมืนด้งนำคนในอาณาเขตการดูแลของโยนกล้านนาในสมัยนั้นมาติดตามมาด้วย และมีบางส่วนที่ตามมาหลังจากนั้น โดยที่เจ้าหมื่นด้ง แม่ทัพเอกของพระเจ้าติโลกราช มหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา มีฐานนันดรเป็นอาของพระเจ้าติโลกราช สร้างเมืองนี้เพื่อเป็นหน้าด่านไว้ยันทัพกรุงศรีอยุธยาไม่ให้ไปถึงอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น  โดยมีความเชื่อมโยงกับลิลิตยวนพ่าย เจ้าด้งนครเดิมเป็นเจ้าครองเมืองลำปาง แต่ต้องลงมาดูแลราชการและเข้ามาช่วยทัพล้านนากับอยุธยาที่สุโขทัย ในช่วงสมัยเจ้าพระบรมไตรโลกนาถ และเจ้าหมื่นด้งยังได้มีการจัดทัพไปตีกับเจ้าเมืองฝางที่อุตรดิตถ์โดยทัพของเจ้าหมื่นด้งชนะเจ้าพระฝาง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำคนโยนกจากลับแลเพราะเป็นทางผ่านระหว่างสุโขทัยกับอุตรดิตถ์ติดตามมายังบ้านตึกและกระจายตัวกันออกเป็นหมู่บ้านต่างๆดังในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคที่ศรีสัชนาลัยมีที่ว่าการอำเภอ สมัยแรกนั้นที่ว่าการอำเภออยู่ที่เมืองด้ง บ้านตึกปัจจุบัน ซิ้งมีระยะทางไกลจากลุ่มน้ำยมถึง 12 กิโลเมตร นายอำเภอคนที่ 3 ของอำเภอเมืองด้ง ชื่อขุนศรีทิพบาลมา จึงทำการย้ายที่ว่าการมายัง ต.ป่างิ้ว อ.ศรีสัชฯเพราะพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านป่างิ้วมีแม่น้ำยมไหลผ่านเหมาะแก่การตั้งที่ว่าการอำเภอเพราะสะดวกในการคมนาคม โดยยังชื่ออำเภอด้งเหมือนเดิม ตั้งอยู่ได้ประมาณ 5 ปี เมื่อขุนศรีพิบาลเกษียณอายุราชการ และนายอำเภอคนใหม่ยังไม่เข้ามารับตำแหน่งนั้น ผู้ร้ายได้เข้าปล้นที่ว่าการอำเภอด้ง และเผาที่ว่าการอำเภอด้งที่ตำบลป่างิ้ว ด้วยต่อมานายอำเภอคนที่4 คือพระยาพิศาลภูเบท มารับตำแหน่งใหม่ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ มาตั้งที่บ้านหาดเสี้ยวประมาณปีพ.ศ.2458และยังใช้ชื่อ อำเภอด้งจึงมีขอสันนิฐานได้ว่า ป่างิ้วน่าจะเป็นเมืองโบราณแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชโดยเป็นชาวโยนกกลุ่มเดียวกับชาวบ้านตึกก็เป็นได้
            ลักษณะหมู่บ้านของชาวไทยวนบ้านป่างิ้ว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจคือวัดป่างิ้ว สุทธาราม รูปแบบของชาวบ้านที่นี้ทำการเกษตรและทอผ้า การทำนาของบ้านป่างิ้วเป็นนาปีและนาปลัง ชาวบ้านที่นี้มีความพอเพียง มีวัฒนธรรมทางภาษาแบบไทยวน แต่วัฒนธรรมบางส่วนถูกกลืนไปกับชาวไทพวน เช่นการทอผ้า การแต่งกาย แต่วัฒนธรรมการไปวัดยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ชาวบ้านที่นี้นิยมตักบาตรหน้าบ้านโดยมีการตีเกราะเคาะไม้ที่แต่ละซอยทำไว้เพื่อให้สัญญานว่าพระได้เดินมาถึงแล้ว ชาวบ้านบางส่วนเมื่อตักบาตรเสร็จจะเดินตามพระมายังวัดเพื่อรับศีลรับพร ก่อนที่จะมีชาวบ้านบางส่วนตามมาสมทบเพื่อทำการตักบาตรและถวายอาหารเพิ่มเติม วัฒนธรรมส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับการตักบาตรของชาวลับแลในบางวัดอยู่บ้าง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ข้าพเจ้าสันนิฐานไว้ 

ข้อมูลชาวไทยวนทั่วไป
ชาวไทยวน หรือคนเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต-กะได ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา หลังจากได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองเชียงแสน อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยวน และในบางกลุ่มได้อพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ภูมิภาคภาคอื่นๆของประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครอง และภาวะสงคราม เช่น จังหวัดสระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา และสุโขทัย เป็นต้น
ชาวไทยวนมีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่มีความพิเศษ จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย และจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ทราบได้ว่าชาวไทยวน มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างไปจากกลุ่มไทอื่นๆ โดยแสดงให้เห็นชัดในเครื่องแต่งกายของสตรีที่เรียกว่า ผ้าซิ่น ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายหลักของสตรีในแถบภูมิภาคนี้ ผ้าซิ่นในชีวิตประจำวันของสตรีไทยวนส่วนใหญ่เป็นซิ่นที่ประกอบจากผ้าริ้วลายขวา ต่อตีนด้วยผ้าสีแดงหรือดำ และต่อหัวซิ่นด้วยผ้าสีขาว สีแดงหรือดำ และอาจจะเป็นผ้าสีเดียวก็ได้ โดยการเย็บเข้าด้วยกัน เรียกซิ่นชนิดนี้ว่า ซิ่นต๋า หรือ ซิ่นต่อตีนต่อเอว
ลักษณะผ้าซิ่นของสตรีชาวไทยวนส่วนใหญ่จะนิยมนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้าในขณะที่บางกลุ่มอาจจะนุ่งลงมาเพียงแข้งตามสภาวะภูมิประเทศของที่อยู่อาศัย ในอดีตสตรีชาวไทยวนไม่นิยมสวมเสื้อเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่มักจะมีผ้าที่เป็นอเนกประสงค์ โดยใช้คล้องคอ ใช้พันมัดหน้าอก(มัดนม) พาดบ่า หรือโพกศรีษะก็ได้ โดยที่สตรีชาวไทยวนทุกชนชั้นจะนิยมไว้ผมยาวเกล้าผมมุ่นมวยปักปิ่น ใส่ลานหู นิยมสวมเครื่องประดับที่เป็นสร้อยตัว กำไล แหวน เข็มขัด และเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งการเปลือยอกถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นในการเข้าสู่พิธีการซึ่งจะใช้ผ้าห่มแบบเฉียงที่เรียกว่า ผ้าสะหว้าย  จากผ้าเนื้อดีมีราคา สำหรับในโอกาสพิเศษหรือไปวัด
สตรีชาวไทยวน นิยมนุ่งผ้าซิ่นที่มีการต่อตีนด้วยผ้าทอพิเศษที่เรียกว่า ตีนจก คือซิ่นต่อเชิง ให้ดูงดงามกว่าธรรมดานอกจากนี้ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าซิ่นยังต่างกันออกไป อันจะเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการบ่งบอกถึงรสนิยมร่วมของกลุ่ม แบ่งขอบเขตทางชาติพันธุ์ แหล่งที่มาและความเชื่อที่แฝงมาในลวดลายตีนผ้าซิ่นนั้นอัตลักษณ์ของ ซิ่นตีนจก นั้นประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ “หัวซิ่น ส่วนนี้มักเป็นผ้าฝ้ายสีขาวต่อกับผ้าสีแดง หรืออาจจะต่อเฉพาะผ้าสีแดงเพียงอย่างเดียวก็ได้ ส่วนที่สองคือ ตัวซิ่น” นิยมใช้ผ้าริ้วลายขวางกับลำตัว เรียกว่า ลายต๋า  มีทั้งทอด้วยสีเดียวเสมอกันเรียกกันว่า ซิ่นต๋าเหล้ม และทอสลับสีต่างๆเรียกว่า ซิ่นต๋าหมู่ ส่วนสุดท้ายเรียกว่า ตีนซิ่น” เป็นส่วนสำคัญของซิ่นตีนจกเพราะจะใช้ผ้าที่ทอด้วยวิธีการจกเป็นลวดลายพิเศษที่มีความงดงามพิเศษเพื่อมาต่อเป็นเชิงของผ้าซิ่น เป็นที่มาของชื่อเรียกผ้าซิ่นชนิดนี้นั่นเอง การทำตีนจกสำหรับต่อเชิงผ้าซิ่นสตรีนั้น นับเป็นงานประณีตศิลป์ที่แสดงถึงความละเอียดอ่อน ประณีต และความมีรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของหรือช่างฝีมือผู้ถักทอ และหากจะกล่าวถึงซิ่นตีนจกในเชิงคุณค่าความสำคัญทางด้านความเชื่อ และวัฒนธรรมแล้ว ลวดลายที่ปรากฏอยู่ในตีนจกนั้นเป็นภูมิปัญญาของช่างฝีมือผู้ถักทอ ซึ่งได้รับการเพาะบ่มเป็นอย่างดีจากรุ่นสู่รุ่นโดยเฉพาะสตรี จากการถ่ายทอดของผู้ที่เป็นแม่ ในวัยแรกรุ่นของสตรีชาวไทยวนล้านนานั้นมักจะถูกเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะแต่เดิมจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แม่และยายจะอบรมสั่งสอนให้ลูกสาวได้เรียนรู้จักมารยาททางสังคม ตลอดจนการใช้ชีวิต การเรียนรู้ทุกอย่างจึงตกทอดมาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางครอบครัวที่ได้สืบทอดจากแม่และยายได้แก่  การทำอาหาร การทอผ้า และการดูแลจารีตประเพณีทางสังคม ซึ่งการอบรมสั่งสอนนี้จะบ่มเพาะประสบการณ์ชีวิตให้หญิงสามารถออกเรือนแต่งงาน มีคู่ครองต่อไปได้ หนึ่งในภูมิปัญญาสั่งสมที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้น คือลวดลายที่ปรากฏอยู่ในผืนผ้าตีนจก ไม่ว่าจะเป็นลวดลายโคม ลายขัน หรือลายขอ  ลายนกไล่ ลายกุดลาว เป็นต้น ที่มีการสร้างลวดลายที่มีลักษณะพิเศษ มีความเป็นจำเพราะของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวภายในกรอบจารีตเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างลวดลายให้แตกต่างไปในแต่ละหมู่บ้าน เช่น การเพิ่มลวดลายพิเศษลงในชุดลายโคม ลายขัน ลายโง๊ะ หรือช่วงหางสะเปา ซึ่งรายละเอียดของความแตกต่างด้านลวดลายเหล่านี้เป็นสิ่งควรจะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดซิ่นตีนจกของชาวไทยวนในแต่ละท้องที่จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ซิ่นตีนจกในเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นตีนจกที่มีลักษณะที่เป็นมาตรฐานและมีความสวยงาม นิยมทอด้วยไหมและดิ้นเงินดิ้นทอง ส่วนซิ่นตีนจกแบบชานเมืองลำปาง เขตแม่ทะ ไหล่หิน เสริมงาม มักมีสีสันฉูดฉาดและมีความหลากหลายของลวดลาย ซิ่นตีนจกเขตฮอด-ดอยเต่า หรือซิ่นน้ำถ้วมมีสีสันฉูดฉาด ลวดลายจะมีขนาดใหญ่และหางสะเปาเป็นสีดำล้วน ซิ่นตีนจกหล่ายน่าน เข้าใจว่าเป็นลักษณะของซิ่นตีนจกแบบดั้งเดิมอย่างหนึ่งของชาวไทยวน คือ นิยมจกบนท้องสีแดง บางผืนไม่มีหางสะเปา ตัวซิ่นมีความพิเศษคือ มี2-3ตะเข็บ ลวดลายงดงามเกิดขึ้นจากการใช้เทคนิคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจก ขิด ล้วงและมัดหมี่ นอกจากนี้ชาวไทยวนที่โยกย้ายไปแหล่งอื่นก็มีผ้าซิ่นตีนจกที่มีความงดงามด้วย เช่น ตีนจกแบบคูบัว ดอนแร่ และหนองโพ-บางกะโด ในเขตจังหวัดราชบุรี เป็นต้น
ปัจจุบัน มีการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอซิ่นตีนจกลายโบราณในหลากหลายพื้นที่ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านและผู้สูงอายุซึ่งไม่มีงานทำ ชาวบ้านไม่ต้องออกไปหางานทำนอกหมู่บ้านก็สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกด้วย